june_a_na


ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บบล็อกของ june_a_na ** ^ u ^**



วันพฤหัสบดีที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2553

หยุด เพราะเธอ

วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2553

อยู่คนเดียว (Official Music Video)

วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553

OST. Yes or No อยากรักก็รักเลย - สบตา.mp4

OST. Yes or No อยากรักก็รักเลย - สบตา.mp4

ถ้าสักวันเธอจะกล้าพอ - [MV] อิน Budokan Ost.Yes or no

วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประเพณีงานบุญชาวอีสาน 5

เดือนห้าบุญสงกรานต์

               บุญสงกรานต์หรือตรุษสงกรานต์ของภาคอีสานกำหนดทำกันในเดือนห้า ปรกติมี 3 วัน โดยเริ่มแต่วันที่ 13 เมษายน ถึงวันที่ 15 เมษายนเหมือนกับภาคกลาง วันที่ 13 เมษายน เป็นวันต้น คือ วันมหาสงกรานต์ วันที่ 14 เมษายน คือวันกลางเป็นวันเนา และวันที่ 15 เมษายน คือวันสุดท้าย เป็นวันเถลิงศก ชาวอีสานถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ พิธีสงกรานต์ในท้องถิ่นหนึ่ง ๆ อาจมีพิธีทำแตกต่างกันไปในข้อปลีกย่อยแต่ที่ทำเหมือนกัน คือ การสรงน้ำพระพุทธรูป ที่สำหรับสรงน้ำในท้องถิ่นหนึ่ง ๆ อาจมีพิธีทำแตกต่างกันไปในข้อปลีกย่อยแต่ที่ทำเหมือนกัน คือ การสรงน้ำพระพุทธรูป ที่สำหรับสรงน้ำพระพุทธรูปมักเป็นที่ใดที่หนึ่ง ที่เห็นว่าเหมาะสม ซึ่งตามปรกติมักใช้ศาลาการเปรียญ แต่บางวัดก็จัดสร้างหอสรงขึ้นแล้วอันเชิญพระพุทธรูปในประดิษฐานไว้ เพื่อทำการสรงในวันสงกรานต์ และในวันถัดจากวันสงกรานต์อีกด้วย
               มูลเหตุที่มีการทำบุญสงกรานต์ มีเรื่องเล่าว่า เศรษฐีผู้หนึ่งอยู่กินกับภรรยามานานแต่ไม่มีบุตรเศรษฐีผู้นั้นบ้านอยู่ใกล้กับบ้านนักเลงสุรา นักเลงสุรามีบุตรสองคน ผิวเนื้อเหมือนทอง วันหนึ่งนักเลงสุราไปกล่าวคำหยาบช้าต่อเศรษฐี เศรษฐีจึงถามว่าเหตุใดจึงมาหมิ่นประมาทตนผู้มีสมบัติมาก นักเลงสุราจึงตอบว่าถึงท่านมีสมบัติมากก็ไม่มีบุตร ตายแล้วสมบัติจะสูญเปล่า เรามีบุตรเห็นว่าประเสริฐกว่าท่าน เศรษฐีได้ยินดังนั้น มีความละอายจึงทำการบวงสรวง ตั้งอธิษฐานขอบุตรต่อพระอาทิตย์และพระจันทร์ถึงสามปี แต่ไม่เป็นผลจึงไปขอบุตรต่อต้นไทร เทวดาซึ่งสิงสถิตย์อยู่ที่ต้นไทรสงสารได้ไปอ้อนวอนขอบุตรต่อพระอินทร์ให้เศรษฐี พระอินทร์จึงโปรดให้ธรรมบาลเทวบุตรลงมาปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี เมื่อประสูตแล้วเศรษฐีให้ชื่อว่า ธรรมบาล ตามนามของเทวบุตร และปลูกปราสาทเจ็ดชั้นให้อยู่ที่ใต้ต้นไทรนั้น ธรรมบาลเป็นเด็กฉลาด โตขึ้นอายุเพียง ๆ ขวบก็สามารถเรียนจบรู้ภาษานกและมีความเฉลียวฉลาดมาก ต่อมากบิลพรหมจากพรหมโลกได้ลงมาถามปัญหาสามข้อกับธรรมบาล ปัญหามีว่า คนเราในวันหนึ่ง ๆ เวลาเช้าศรีอยู่ที่ไหนเวลาเทียงศรีอยู่ที่ไหนและเวลาเย็นศรีอยู่ที่ไหนโดยสัญญาว่า ถ้าธรรมบาลแก้ได้กบิลพรหมจะตัดศีรษะของตนบูชา แต่ถ้าธรรมบาลแก้ไม่ได้จะต้องตัดศีรษะธรรมบาลเสีย โดยผัดให้เจ็ดวันคราวแรกธรรมบาลนึกตอบปัญหานี้ไม่ได้ พอถึงวันถ้วนหกพอดีไปแอบได้ยินนกอินรีผู้ผัวพูดคำตอบให้นกอินทรีผู้เป็นเมียฟังบนต้นตาล ธรรมบาลถึงสามารถแก้ปัญหาได้ คำตอบคือเวลาเช้าศรีอยู่ที่หน้าคนถึงเอาน้ำล้างในตอนเช้า เวลากลางวันศรีอยู่ที่อกคนถึงเอาเครื่องหอมประพรมที่หน้าอกในเวลากลางวันและเวลาเย็นศรีอยู่ที่เท้า คนจึงเอาน้ำล้างเท้าในเวลาเย็น เมื่อถึงวันถ้วนเจ็ดท้าวกบิลพรหมได้มาทวงถามปัญหาธรรบาล เมื่อธรรมบาลตอบได้ (ตามที่ยินนกพูดกัน) กบิลพรหมจึงตัดศีรษะของตนบูชาธรรมบาลตามสัญญาแต่เนื่องจากศีรษะของกบิลพรหมศักดิ์สิทธิ์ ถ้าตกลงแผ่นดินจะเกิดไฟไหม้ ถ้าทิ้งไปในอากาศจะทำให้เกิดฝนแล้งและถ้าทิ้งลงในมหาสมุทรน้ำจะแห้ง ดังนั้นเมื่อกบิลพรหมจะตัดศีรษะของตน ถึงได้ให้ธิดาทั้งเจ็ดเอาพานมารองรับศีรษะของตนไว้ โดยตัดศีรษะส่งให้นางทุงษผู้ธิดาคนใหญ่ แล้วธิดาทั้งเจ็ดจึงแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุเป็นเวลา 60 นาที จึงนำไปประดิษฐานไว้ที่มณฑปในถ้ำคันธุลีเขาไกรลาส บูชาด้วยเครื่องทิพย์พระเวสสุกรรมก็เนรมิตโรงแล้วด้วยแก้วเจ็ดประการ ให้เป็นที่ประชุมเทวดาพอครบหนึ่งปีธีดาทั้งเจ็ดจะผลัดเปลี่ยนกันมาอัญเชิญเอาศีรษะของกบิลพรหมแห่พระทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ (ธิดาทั้งเจ็ดของกบิลพรหมมีชื่อดังนี้ คือ ทุงษ โคราด รากษส มัณฑา กิรินี กิมิทาและมโหทร) พิธีแห่เศียรของกบิลพรหมนี้ทำให้เกิดพิธีตรุษสงกรานต์ขึ้นทุก ๆ ปี และถือเป็นประเพณีขึ้นปีใหม่ของชาวไทยโบราณต่อๆ กันมาด้วย
     นางสงกรานต์ ได้แก่ ผู้ทำหน้าที่อันเชิญเอาศีรษะของท้าวกบิลพรหมมาแห่ในวันสงกรานต์ เป็นนางฟ้าบนสวรรค์ขึ้นจาตุมหาราชิกา ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นต่ำที่สุด มีด้วยกัน 7 คน เป็นพี่น้องกันทั้งหมด และเป็นธิดาของท้าวกบิพรหมหรือมหาสงกรานต์ดังกล่าวข้างต้น การที่ธิดาคนใดจะเป็นนางสงกรานต์ เช่น พ.ศ. 2527 วันที่ 13 เมษายนตรงกับวันศุกร์ นางสงกรานต์จึงมีนามว่า กิมิทา เป็นต้น นางทั้ง 7 มีชื่อ วัน ดอกไม้ เครื่องประดับ อาหาร อาวุธ และสัตว์เป็นพาหนะ ดังนี้
     1. ทุงษ วัน อาทิตย์ดอกไม้ ดอกทับทิมเครื่องประดับ ปัทมราดอาหาร อุทุมพรอาวุธ จักร - สังข์พาหนะ ครุฑ
     2. โคราด วัน จันทร์ดอกไม้ ดอกปีบเครื่องประดับ มุกดาหารอาหาร น้ำมันอาวุธ พระขรรค์ - ไม้เท้าพาหนะ พยัคฆ์ (เสือโคร่ง)
     3. รากษส วัน อังคารดอกไม้ ดอกบัวหลวงเครื่องประดับ โมราอาหาร โลหิตอาวุธ ตรีศูล - ธนูพาหนะ วราหะ (หมู)
     4. มัณฑา วัน พุธดอกไม้ ดอกจำปาเครื่องประดับ ไพฑูรย์อาหาร นมเนยอาวุธ ไม้เท้า - เหล็กแหลมพาหนะ คัสพะ (ลา)
     5. กิรินี วัน พฤหัสบดีดอกไม้ ดอกมณฑาเครื่องประดับ มรกตอาหาร ถั่วงาอาวุธ ขอ -ปืนพาหนะ กุญชร (ช้าง)
     6. กิมิทา วัน ศุกร์ดอกไม้ ดอกจงกลณีเครื่องประดับ บุษราคัมอาหาร กล้วยน้ำอาวุธ พระขรรค์ - พิณพาหนะ มหิงสา (ควาย)
     7. มโหทร วัน ศุกร์ดอกไม้ ดอกสามหาวเครื่องประดับ นิลรัตน์อาหาร เนื้อทรายอาวุธ จักร - ตรีศูลพาหนะ นกยูง
วิธีหาวันอธิบดี วันธงชัย วันอุบาทว์ วันโลกาวินาศ ครั้งแรกหาวันอธิบดีก่อน จึงหาวันอื่น ๆ โดยมีวิธีต่อไปนี้
     วันอธิบดี ให้ตั้งพุทธศักราชลง แล้วหารด้วย 7 เหลือเศษเท่าไร เศษนั้นเป็นวันอธิบดี เช่น เศษ 1 เป็นวันอาทิตย์ เศษ 2 เป็นวันจันทร์ เศษ 3 เป็นวันอังคาร เศษ 4 เป็นวันพุธ เศษ 5 เป็นวันพฤหัสบดี เศษ 6 เป็นวันศุกร์ ถ้าหารลงตัวไม่มีเศษ เป็นวันเสาร์ เช่น พ.ศ. 2527 เมื่อเอา 7 หาร ลงตัวพอดีไม่มีเศษวันอธิบดีก็เป็นวันเสาร์
     วันธงชัย ให้ตั้งเลขวันอธิบดีของปีนั้น ๆ ลงเอา 3 คูณ 2 บวก แล้วหารด้วย 7 เหลือเศษเท่าไร เศษนั้นเป็นวันธงชัย เช่น พ.ศ. 2527 วันจันทร์เป็นวันธงชัย
     วันอุบาทว์ ให้ตั้งเลขวันอธิบดีของปีนั้น ๆ ลงเอา 3 คูณ 1 บวก แล้วหารด้วย 7 เหลือเศษเท่าไรเศษนั้นเป็นอุบาทว์ เช่น พ.ศ. 2527 วันอาทิตย์เป็นวันอุบาทว์
     วันโลกาวินาศ ให้ตั้งเลขวันอธิบดีของปีนั้น ๆ ลงเอา 2 บวก แล้วหารด้วย 7 เหลือเศษเท่าไรเศษนั้นเป็นวันโลกาวินาศ เช่น พ.ศ. 2527 วันจันทร์เป็นวันโลกาวินาศ
     การหาวันอธิบดี วันธงชัย วันอุบาทว์ และวันโลกาวินาศ เป็นอคติถือว่า โดยคนไทยเรานั้นฝังหัวหรือเชื่อถือกันมาแต่โบราณว่า ถ้าจะทำการมงคลใด ๆ ก็นิยมกระทำในวันอธิบดี และวันธงชัย เว้นวันอุบาทว์และโลกาวินาศ ถึงแม้พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า "ประโยชน์เป็นตัวฤกษ์ของเขลา ผู้ถือฤกษ์ยามอยู่ ประโยชน์เป็นตัวฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวทั้งหลายจักทำอะไรได้" แต่เราก็ยังอดถือฤกษ์ถือยามไม่ได้ พระท่านจึงสอนว่ายึดอะไรก็ยึดได้ แต่อย่ายึดให้มั่น ถืออะไรก็ถือได้ แต่อย่าถือให้มั่นเกินไป" เพราะการยึดมั่นถือมั่นเกินไปแล้วหนักวางยากปลงยาก อาจทำให้ไม่สบายใจ
     จำนวนนาคให้น้ำ ถ้าต้องการทราบจำนวนขนาดให้น้ำในปีใด เมื่อคิดวันอธิบดีได้แล้ว ก็เอาวันอธิบดีตั้งคูณด้วย 5 บวกด้วย 3 และหารด้วย 7 เหลือเศษเท่าใด ก็เป็นจำนวนนาคให้น้ำเท่านั้นตัว เช่น พ.ศ. 2527 จำนวนนาคให้น้ำ 3 ตัว เป็นต้น
     จำนวนฝนตก เกณฑ์น้ำฝนที่ว่าตกเท่านั้นเท่านี้ห่า คือ ตกในเขาจักรวาลเท่านั้นห่า ในป่าหิมพานต์เท่านั้นห่า ในสมุทรเท่านั้นห่า และในมนุษย์โลกเท่านั้นห่า มีกำหนดไว้ดังนี้ คือ ถ้าวันอธิบดีฝนเป็นวันอังคารฝนตกทั้งหมด 300 ห่า ถ้าเป็นวันอาทิตย์หรือวันเสาร์ตก 400 เท่า ถ้าเป็นวันจันทร์หรือวันพฤหัสบดี ตก 500 ห่าถ้าเป็นวันพุธหรือวันศุกร์ ตก 600 ห่า ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดถ้าอยากทราบว่าจำนวนน้ำฝนตกที่ใดเท่าใด ก็แบ่งจำนวนน้ำฝนที่ตกทั้งสิ้นออกเป็น 10 ส่วน จะเป็นตกในมนุษยโลก 1 ส่วน ตกในมหาสมุทร 2 ส่วน ตกในป่าหิมพานต์ 3 ส่วน และตกในเขาจักรวาล 4 ส่วน ตามลำดับเช่น จำนวนน้ำฝนรวมเป็น 400 เท่า ก็เป็นจำนวนตกในมนุษยโลก 40 ห่า ตกในสมุทร 80 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 120 ห่า และตกในเขาจักรวาล 160 ห่า
เกณฑ์ธัญญาหาร มี 4 อย่าง เรียงตามลำดับเศษที่คำนวณได้ คือ
เศษ 1 ชื่อ ถาภะ ได้ 10 เสีย 1
เศษ 2 ชื่อ วิบัติ ได้ กึ่ง เสีย กึ่ง
เศษ 3 ชื่อ ปัจฉิม ได้ 1 เสีย 5
เศษ 4 ชื่อ ปัจฉิม ได้ 1 เสีย 5
เศษ 5 ชื่อ วิบัติ ได้ กึ่ง เสีย กึ่ง
เศษ 6 ชื่อ ลาภะ ได้ 10 เสีย 1
เศษ 7 ชื่อ ปาปะ ได้ 1 เสีย 10
เกณฑ์ธาราธิคุณ มี 4 ราศี ซึ่งหมายถึงกองธาตุทั้งสี่ ถ้าตก
ราศีเตโช (ธาตุไฟ) น้ำน้อย
ราศีวาโย (ธาตุลม) น้ำน้อย
ราศีปถวี (ธาตุดิน) น้ำงามพอดี
ราศีอาโป (ธาตุน้ำ) น้ำมาก
      เหตุใดในปฎิทินบัตรแต่ก่อน จึงไม่บอกวันเดือนปีทางสุริยคติเหมือนอย่างปฏิทินสมัยใหม่ แต่ว่าบอกวันทางจันทรคติเป็นข้างขึ้นข้างแรม และบอกเป็นชื่อตาม 12 นักษัตร คือ ชวด ฉลู ขาล เถาะ เป็นต้น ก็เพราะการนับวันทางสุริยคติ ดูเหมือนจะมีใช้ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2432 นี้เอง ก่อนนั้นขึ้นไปเขาใช้นับกันทางจันทรคติ ซึ่งราษฎรถึงจะไม่มีปฏิทินดู ก็ใช้ดูจากดวงจันทร์เป็นเดือนเกิดเดือนดับ หรือข้างขึ้นข้างแรมพอสังเกตดูได้เป็นประมาณนอกนี้ทางพุทธศาสนิกชนก็ยังถือวันทางจันทรคติอยู่ด้วย การนับวันทางจันทรคติจึงมีความจำเป็นแก่ประชาชนทั่วไปเพราะเกี่ยวกับการทำทำไร่ไถนาตามฤดูกาลและการทำบุญของเขา ที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำบุญตรุษสงกรานต์ทั้งทางตรงและทางอ้อม
     วิธีดำเนินการ ในวันที่ 13 เมษายน ในตอนเช้าหรือก่อนเที่ยง ทางวัดจะจัดเตรียมทำความสะอาดพระพุทธรูปและจัดพระพุทธรูปไว้ ณ ที่จะทำการสรง ซึ่งตามปรกติมักจัดไว้ที่แท่นหรือโต๊ะบนศาลาการเปรียญหรือหอสรงก็ได้ เมื่อเวลาบ่ายประมาณสองโมงทางวัดจะตีกลองเพื่อนัดชาวบ้าน พอชาวบ้านได้ยินเสียงกลองจะจัดน้ำอาบน้ำหอมและดอกไม้ธูปเทียนมารวมกันที่ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปในวัด บางท้องถิ่นหนุ่ม ๆ สาว ๆ จะชวนกันไปหาดอกไม้ในป่า เพื่อนำมาบูชาพระพุทธรูป เมื่อพร้อมแล้วมีการกล่าวคำบูชาดอกไม้และอธิษฐานขอสรงน้ำแล้วจึงทำการสรงน้ำพระพุทธรูปด้วยน้ำอบน้ำหอม โดยใช้ช่อดอกไม้จุ่มน้ำสลัดใส่องค์พระพุทธรูปเมื่อสรงน้ำพระพุทธรูปเสร็จ ชาวบ้านจะนำน้ำที่ได้จากสรงพระพุทธรูปไปประพรมบนศีรษะของคนและสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย ฯลฯ เพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุข นอกนี้บางวัดยังอัญเชิญพระพุทธรูป 4 องค์ไปไว้ที่หอสรง สำหรับสรงน้ำในวัดถัดไปจากวันตรุษสงกรานต์อีกด้วย ที่หอสรงบางแห่งใช้ไม้แก่นเจาะเป็นราง สลักลวดลายอย่างสวยงามหรือรางไม้ไผ่ที่ทำเป็นร่องยาวพาดออกมาข้างนอก ตรงบนพระพุทธรูปเจาะเป็นรูและต่อท่อเล็ก ๆ ให้น้ำไหลออกมา การสรงน้ำพระพุทธรูปที่หอสรง ถ้ามีรางก็เทน้ำใส่ราง ที่ยื่นออกมาข้างนอก เพื่อให้น้ำไหลรดองค์พระพุทธรูปตรงรูดังกล่าวถ้าไม่มีรางก็ใช้ภาชนะเล็ก ๆ เช่น ขัน เป็นต้น ทำการรดในวันต่อ ๆ มาภายหลังวันตรุษสงกรานต์ เมื่อมีคนไปสงน้ำพระพุทธรูป เด็ก ๆ มักชอบไปอยู่ข้างหอสรง เพื่อจะได้อาบน้ำพระพุทธรูปเป็นที่สนุกสนานทั้งถือว่าทำให้หายโรคภัยไข้เจ็บและอยู่เย็นเป็นสุขด้วย การสรงน้ำพระพุทธรูปที่หอสรงนี้ จะทำทุกวัน จนกว่าจะแห่ดอกไม้เสร็จ ซึ่งอย่างช้าไม่เกินวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 จึงอัญเชิญพระพุทธรูปไป ประดิฐฐานไว้ตามเดิม ในวันตรุษสงกรานเมื่อสรงน้ำพระพุทธรูปเสร็จแล้ว บางแห่งเวลากลางคืนประมาณ 1 ทุ่ม ชาวบ้านจะไปรวมกันที่วัด ทำการคบงันด้วยดนตรี ร้องรำทำเพลงและการละเล่นต่าง ๆ แต่ส่วนมากพากันจับกลุ่มเล่นหันกันตามละแวกหมู่บ้านเป็นแห่ง ๆ โดยมากเป็นพวกหนุ่ม ๆ สาว ๆ การเล่นนอกจากเป่าแคนและร้องรำทำเพลงและมีการเล่นสาดน้ำและการละเล่นอื่น ๆ เช่น เล่นสะบ้า ถึงหนึ่งหรือชักเย่อ ฯลฯ โดยเฉพาะการเล่นสาดน้ำกันไม่ถืออายุ ชั้นวรรณะและเชื่อว่าหากเล่นสาดน้ำกันมากเท่าใด จะเป็นการช่วยดลบันดาลให้ฝนตกมากขึ้นเท่านั้น บางแห่งพวกผู้หญิงจับผู้ชายไปมัด แล้วเอาน้ำมารดจนหนาวสั่น จะหยุดรดและปล่อยตัว จนกว่าผู้ที่ถูกจับมัดยอมเสียค่าไถ่ซึ่งส่วนมากได้แก่ เครื่องดื่มและอาหาร เช่น ขนม เป็นต้น ให้แก่คณะผู้ทำการจับ
     นอกจากสรงน้ำพระพุทธรูปแล้ว ในวันตรุษสงกรานต์ยังมีการสรงน้ำพระสงฆ์ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพและขอพรจากพระสงฆ์ให้อยู่เย็นเป็นสุข แต่บางหมู่บ้านสาว ๆ อาจสาดน้ำพระเณรในวัดด้วย ซึ่งประเพณีดั้งเดิมถือว่าเป็นการสนุกไม่ถือเป็นการบาปแต่อย่างใด หลังจากสรงน้ำพระสงฆ์แล้ว ชาวบ้านจะจัดขบวนแห่ไปสรงน้ำให้กับผู้หลักผู้ใหญ่ในหมู่บ้านที่เคารพนับถือตามสมควร เช่น คนที่มีอายุมาก ๆ กำนันผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น
     ประเพณีสงกรานต์หรือปีใหม่ของชาวอีสาน มักจะเล่นกันเป็นเวลาหลาย ๆ วัน บางแห่งเล่นกันเป็นเวลา 5-7 วัน และถ้าอากาศร้อน บางทีมีการเล่นสาดน้ำก่อนวันงาน และภายหลังวันงานรวมเป็นเวลาถึง 10 วันก็มี แต่ตามปรกติจะมีการเล่นสนุกสนานกัน 3 วัน คือวันที่ 13-14-15 เมษายน โดยเฉพาะวันที่ 14 เมษายน ซึ่งเป็นวันเนา (บางแห่งเรียกวันเนา แผลงเป็นวันเน่าก็มี) แปลว่า วันหยุด ชาวบ้านจะหยุดงานทุกอย่างและจะเล่นสนุกสนานกันอย่างเต็มที่และในวันเนาจวนรุ่งสว่างราว 4 หรือ 5 นาฬิกา จะมีการยิงปืนและจุดประทัดขับไล่ภูตผีและเสนียดจัญไรต่าง ๆ ด้วย
     ส่วนการละเล่นจะมีติดต่อกันไปตลอดวันตลอดคืน จนถึงคืนวันที่ 15 เมษายนและตอนเย็นวันที่ 15 เมษายน บางแห่งชาวบ้านทำธง (ชาวบ้านเรียกว่า ธุง) ด้วยด้ายสีต่าง ๆ ยาวประมาณ 2-3 วา นำไปแขวนที่วัด โดยใช้ลำไม้ไผ่ที่ยอดโก่งเรียวงามเป็นเสาธง การนำธงไปแขวนจะการแห่และตีฆ้องตีกลองด้วย การแขวนธงนี้บางท่านให้ความเห็นว่า นอกจากเป็นการบูชาพระรัตนตรัยแล้วยังเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะแห่งชีวิตของคนเรา คือสามารถมีชีวิตยืนยาวมาจนถึงปีใหม่อีกครั้งหนึ่งและในคืนวันที่ 15 เมษายนพอจวนสว่าง คือรุ่งขึ้นวันที่ 16 เมษายน บางแห่งมีการแห่ข้าวพันก้อนไปบูชาที่วัดเรื่องบุญแห่ข้าวพันก้อนจะได้กล่าวละเอียดที่หลัง
     ในวันที่ 15 เมษายน บางแห่งมีการทำบุญตักบาตรถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ในตอนเช้า และตอนบ่ายบางแห่งชาวบ้านพากันขนทรายมาก่อเจดีย์ทราย อาจจัดทำที่หาดทรายใกล้แม่น้ำหรือที่ใดที่หนึ่งแล้วแต่จะเห็นว่าเหมาะสม แต่ส่วนมากนิยมจัดทำที่วัด โดยชาวบ้านพากันขนทรายจากท่าน้ำมาก่อเป็นเจดีย์ทรายที่วัดรวมกันเป็นกองใหญ่ การก่อเจดีย์จัดทำโดยเอาทรายผสมน้ำพอซุ่มแล้วนำมารวมก่อเป็นกองใหญ่ ทำเป็นรูปเรียวสูงคล้ายปิรมิด ตกแต่งให้สวยงามดีแล้ว ตรงยอดเจดีย์เอาไม้แก่นแข็งทำเป็นหยักและเสี้ยมปลายแหลมพร้อมทาสีให้สวยงาม มาเสียบไว้พร้อมดอกไม้และเทียน นอกจากนี้บางทียังเอาขันขนาดเล็กใส่ทรายซึ่งผสมน้ำพอหมาดให้เต็มดีแล้วตีคว่ำลงกับพื้นดินรอบเจดีย์ทรายองค์ใหญ่ คนหนึ่งทำจำนวนให้เกินอายุของตนไว้ 1 ขัน ซึ่งมีความหมายขอให้อายุยืนยาวต่อไป เช่น เกี่ยวกับทำกองทรายด้วยนั่นเอง การก่อเจดีย์ทรายหากไม่ทำในวันดังกล่าวอาจทำในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ซึ่งเป็นวันอัญเชิญพระพุทธรูปที่นำมาสรงน้ำที่หอสรงไปประดิษฐานไว้ ณ ที่เดิม การก่อเจดีย์ทรายเมื่อทำเสร็จพิธีก็มีการทำพิธีบวช โดยนิมนต์พระสงฆ์อย่างน้อย 5 รูป มาทำพิธีสวดพระพุทธมนต์และทำพิธีบวชองค์พระเจดีย์ทราย มีการประน้ำพระพุทธมนต์ที่เจดีย์ทรายด้วย พิธีนี้นิยมทำในตอนบ่าย พอถึงตอนเย็นหรือค่ำมีการฟังพระสวดมนต์ ฟังเทศน์ฉลองพระทรายและทำการคบงัน การก่อเจดีย์ทรายนอกจากได้บุญตามความเชื่อถือแล้ว หากจัดทำในวัด โอกาสต่อมาเมื่อเจดีย์ทรายทลายลง พื้นที่แห่งนั้นจะได้รับการถมให้สูงขึ้นไปในตัวพื้นดินจะหายจากโคลนตมและมองดูสะอาดตาดีด้วย นับเป็นการได้กุศลสองต่อ
     ภายหลังวันสงกรานต์แล้ว บางแห่งมีการแห่ดอกไม้ โดยทำเป็นต้นดอกไม้ไปถวายวัด รายละเอียดเรื่องราวการแห่ดอกไม้จะได้กล่าวในโอกาสต่อไป นอกจากพิธีดังกล่าวแล้วบางท้องถิ่นภายหลังงานตรุษสงกรานต์แล้ว จะมีพิธีสู่ขวัญพระพุทธรูปและสู่ขวัญพระภิกษุสามเณรด้วย
คำสู่ขวัญพระพุทธรูปและคำสู่ขวัญพระภิกษุสามเณร มีดังต่อไปนี้
      ศรี ศรี ปีเดือนแถมเถิงเขต พระสุริยเยศเข้าสู่ราตรี ผีจักปุนเป็นปีอธิกมาส ฝูงข้าน้อยนาถข้าบาททั้งหลายยกมือใส่หัวเกศเกล้า ไหว้พระรัตนตรัยแล้วเจ้าตนรัศมี เถิงฤดูปีมาไต่เต้า องค์พระแก้วเจ้าจึงเสด็จลีลาลง ทรงตนงามพีพ่าย ๆ ฝูงข้าทั้งหลายบ่มีใจติกหนาด้วยโทษ กริ้วโกรธโกรธาพร้อมกันมาราชาบายศรีแด่พระแก้วเจ้า ทั้งผู้เฒ่าและปานกลาง ทั้งสาวฮามและเด็กน้อย มีใจชื่นช้อยเลื่อมใสดี ฝูงข้าทั้งหลายได้ขัดสีสังเกต ตามประเทศพื้นเมืองคน ฝูงข้าทั้งหลายได้กระทำเพียรสร้างกุศลหลายชาติ จึงได้อุปฐากพระแก้วเจ้าองค์ทรงธรรมผายโผดเมตตาโปรดสัตว์โลกให้พ้นโอฆสงสาร ให้ได้เถิงพระนีรพานอันล้ำยิ่ง ฝูงข้าทั้งหลายถึงพร้อมกันมาตกแต่งแล้วจึงยอถวายแดพระแก้วเจ้า องค์เป็นเค้าเป็นเหง้า แก่ฝูงคนและเทวดาทั้งหลายและทรงฮูปโฉมงามย้อยยั่ง เป็นดั่งน้ำครั่งใส่ไตคำ องค์มีรัศมีงามบ่ฮู้เศร้า ตราบต่อเท่าห้าพันพระวัสสา
     อันหนึ่ง ฝูงข้าทั้งหลายก็ยังมีคำมักคำปรารถนาต่าง ๆ กัน บางพ่อปรารถนาเอาซึ่งสมบัติมากสมบัติหลากโลกีย์ เป็นเศรษฐีรตนาถพร้อมเนืองนอง เงินคำกองม้ามิ่ง นับด้วยสิ่งอสงไขย บางพ่องปรารถนาเป็นพญาจักรพรรดิราชา ให้ได้ผาบแพ้ทั้งสีชมพู บางพ่องปรารถนาเป็นพญาอินทราธิราช อันเป็นอาชญ์แก่เทวดาทั้งหลายบางพ่องปรารถนาเป็นพระพรหมตนประเสริฐ อันเป็นบังเกิดยังญาณ บางพ่อปรารถนาเป็นทายกทายิกาอุบาสกอุบาสิกาของพระศรีอารย์ตนองอาจ เป็นดั่งนางนาถไท้วิสาขา บางพ่องปรารถนาเป็นสัพพัญญตญาณอันล้ำเลิศประเสริญกว่าคน และเทวดาทั้งหลาย บางพ่องปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธอันล้ำยิ่ง ข้ามพ้นสิ่งสงสาร บางพ่องปรารถนาเป็นสาวกบารมีผายผ่อง บางพ่องปรารถนาเป็นพระอรหันต์มรรคญาณอันผ่านแผ้ว หมดบาปแล้วสู่นีรพานขอให้ได้ดังคำมักคำปรารถนา แห่งฝูงข้าทั้งหลายทุกตนทุกคน ก็ข้าเทอญ
     ประการหนึ่ง ตราบใดฝูงข้าทั้งหลาย นังได้ทั่วระวัฏฏ์ผัดไปมา ในวัฏสงสารแหล่งหล้าขอให้พ้นจากอบายเว้นแวนไกลฮ้อยโยชน์ คำฮ้ายโหดอย่ามี จำเร้ญศรีสุทธะยิ่ง คือเทพไท้สิ่งอินทรา ขอให้มีอายุยืนนานอย่าน้อยให้ได้ฮ้อยเอ็ดวัสสาอย่าพั่ง อย่าได้หลั่งเข้าสู่โมหา ขอให้ฝุงเข้าเกิดมาพร้อมพระเจ้าตนประเสริฐ ซึ่งว่าพระศรีอริยเมตไตรย แม่นว่ามีอันใดขอให้ประกอบชอบเนื้อเพิงใจ สมศรีไวเมียมิ่ง ลูกแก้วกิ่งกับตนวงศาลสายเชื้อชาติ ขอให้ฉลาดฮู้ใจเดียวแม่นว่าฝูงข้าทั้งหลายยังได้ทัวระเทียวไปมา ในวัฏสงสารหลายชนิด อย่าได้พอพ้อปิตุฆาตฮ้ายหมู่เวราแม่นว่าฝูงข้าทั้งหลายจีกมารณาม้างปัญจขันธ์ทั้งหลาย ขออย่าได้มีน้ำมูกน้ำลายเสลด ทุกข์เหตุฮ้ายเวทนาจงให้มรณาโดยชอบ ประกอบด้วยสติจวิตวา ฝูงข้าทั้งหลายตายจากเมืองคน จอให้ไดเมื่อเอาตนเกิดในชั้นฟ้า เลิศตาวะติงสา ยถา ภาเว ภาเว ชาโต ฝูงข้าทั้งหลาย เกิดมาในภาวะที่ใดก็ดี มีหูตาขอให้ใสแจ้งโสต เป็นเงาในฮ้อยโยชน์ก็ให้เห็นเป็นวิตถารแจ้งโสต ธรรมชาติโสภา ผมดำยาวเส้นแลบ พรรณะแจ้งแจบเสมอเทา เลาคิงขาสมเต้า อย่าถ่อยเฒ่าชราการเนื้อคิงบางคอกลมปล้อง บ่เอ้อ้องก็หากดูงาม คนใดเห็นลืมแลงงายหายอยากข้าว ผู้เฒ่าเห็นหายซึ่งพยาธิโรคาท้าวพญาเห็นชมชื่น น ๆ ทั่วชมพู กูณาผายแผ่กว้าง ให้มีช้างม้าฝูงหมู่เงินคำ ให้จำนาทุกชาติ อย่าได้คลาดดังคำมักคาปรารถนา แห่งฝูงข้าทั้งหลาย ทุกตนทุกคน ก็ข้าเทอญ
(คำสู่ขวัญพระพุทธรูปใช้ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ คือ ภายหลังวันตรุษสงกรานต์ หรือใช้ในพิธีสมโภชพระพุทธรูปที่สร้างใหม่ก็ได้)

คำสู่ขวัญพระภิกษุสามเณร
      ศรี ศรี สิทธิพระพร บวรอติเรก อเนกเตโช มโหราฤกษ์ อธิกะอัทธา อตุลาคุณ พหุลเตโช ชัยะมังคลาดิเรก เอนกศรีสวัสดี ไมตรีจวมีแก่นาค ครุฑ มนุษย์ กุมภัณฑ์ คนธรรมพ์ ยักษ์ อารักขเทวดา สุรา สุรินทร์ อินทร์ พรหมยมราชา สุนักขัตตา สุมังคลา อุตตอมโชค อุตตมดถี อุตตมนีธี อุตตมังคลา มหาศรีวิลาส อินทพาดพร้อมไตรยางค์ พร้อมนาวางคคาดคู่ พร้อมกันอยู่สอนลอน อาทิตย์จรจันทร์นักขัตฤกษ์ อังคารถือมหาชัย พุทธพฤหัสไปเป็นโชคศุกร์ เสาร์โยคว่าวันดี วันดีถีอมุตตโชค วันประสิทธิโยคพร้อมลักขณา ฝูงข้าทั้งหลาย ทั้งหยิงชายน้อยใหญ่อุบาสิกอุบาสิกาทั้งหลาย พร้อมกันมาทุกแห่ง มาตกแต่งขันกราบไหว้และบายศรี สรงโสรจด้วยน้ำ พุทธาภิเษกก็หากแล้ว บัดนี้ฝูงข้าทั้งหลาย หากเพิงประสงค์สิทธิจินตนาแล้ว จึงอธิษฐานให้เป็นพระพร 4 โกฏฐาส
ปฐมโกฏฐาส อันถ้วนหนึ่งนั้น ขอถวายสมมาบูชาเจ้ากู ตนทรงลีลาอันวิเศษ ในช่วงเขตอาฮาม แถมสมภารทุกสิ่ง ไว้เป็นมิ่งมงคล ให้มีบุญและยศกว้าง อยู่สืบสร้างสมณะธรรมเจ้าตราบต่อเท่าฮ้อยซาวพระวัสสา ก็ข้าเทอญ
     ทุติยะ พระพรถ้วนสองสมภารนองเนืองมาก บุญล้นหลากเหลือหลาย ผันผายแผ่กว้าง เป็นที่อ้างแก่โลกโลกาลือชาไปทุกแห่งตกแต่งพร้อมนานา ทั้งพญาแสนหมื่นมาก กราบพื้นบาทา สักการะบูชาเจ้ากู ทุกวันทุกยามก็ข้าเทอญ
ตติยะ พระพรถ้วนสาม ดูงามใสและเฮืองฮุ่ง ปานดั่งแสงสุริยะพุ่งขึ้นมา เขายุคันธรให้ได้แถมนามกรขึ้นเป็นมหาสมเด็จอัคคะบวรราชครู ดูงามศรีใสสะอาด ให้ได้นั่งปราสาทแก้วและเบ็งซอนอาภรณ์หลายแก้วกิ่ง ทุกสิ่งพร้อมเงินทอง หาสาหลายต่างเมืองมาไหว้ มีดอกไม้แก้วและเงินคำ นำมาถวายพร่ำพร้อมมานบน้อมวันทาโรคาอย่ามาต้องให้เจ้ากูได้สอนลูกน้องพอแสนคน ทศพลตนผ่านแผ้ว คือว่าไตรปิฏกแล้วทั้งสาม ก็ข้าเทอญ
      จตุตถะ พระพรถ้วนสี่ ให้รู้ที่แจ้งตรัสส่องสรญาณ สมภารเฮืองทั่วโลก ดูเลิศล้ำกว่าเทพาให้ได้ดั่งพระโมคคัลลาสารีบุตร บริสุทธิ์องค์ประเสริฐ เลิศด้วยฤทธิ์บารมีเช้าค่ำ ยิ่งล้ำดตื่มศรัทธาจตุรานาคครุฑ มนุษย์กุมภัณฑ์ คนธรรมพ์ยักษ์ทั้งหลาย อันยายยั้งอยู่ คู่ป่าไม้ไพรพนอม จอมเขาและฮิมน้ำสมุทรสุดแดนแสนโกฏิฮอบขอบจักรวาล ให้ทะยานมาด้วยฤทธา มีเครื่องสักการะบูชาพร่ำพร้อม มานบน้อมประณมกรถวายพร ถวายพรไปอย่าคลาดแคล้ว ให้เลิศแล้วนัยคาถาว่า ชยะคุ ภะวัง ชยะมังคละ ดั่งนี้ ขอให้เจ้ากูมีชัยชนะ พญามารผู้ใจบาป มากราบพิ้นบาทา สักการะบูชาเจ้ากู อยู่สู้วันทุกยาม ก็ข้าเทอญ

ประเพณีงานบุญชาวอีสาน 4

บุญมหาชาติ หรือ บุญเผวส

บุญเผวสหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บุญมหาชาติ มีการทำกันเดือนใดเดือนหนึ่ง ในระหว่างออกพรรษาจะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ได้ แล้วแต่สะดวก แต่ส่วนมากนิยมทำกันในเดือนสี่ดังมีคำพังเพยว่า "เดือนสามด้อยเจ้าหัวคอยปั้นข้าวจี่ เดือนสี่ด้อยจัวน้อยเทศน์มะที" (คำว่า เจ้าหัว หมายถึงพระภิกษุ จัว หมายถึง สามเณร มะที หมายถึง มัทรี) บางแห่งทำในเดือนหกหรือเดือนเจ็ดก็มีและหากทำในเดือนหกหรือเดือนเจ็ด มักจะทำบุญบั้งไฟรวมด้วยก่อนจัดงาน ทางบ้านและวัดจะมีการปรึกษาหารือตกลงกันให้เรียบร้อยก่อน ทางชาวบ้านจะจัดอาหารการกิน เช่น ขนม ข้าวต้ม และอาหารคาวต่าง ๆ สำหรับถวายพระภิกษุสามเณร และเลี้ยงแขกเลี้ยงคนที่มาร่วมงานและจัดหาปัจจัยไทยทานสำหรับใส่กัณฑ์เทศน์ เพื่อถวายพระภิกษุสามเณร ส่วนทางวัดก็แบ่งหนังสือออกเป็นกัณฑ์ ๆ หลังสือผูกหนึ่งอาจแบ่งเป็นหลายกัณฑ์ก็ได้เพื่อให้ชาวบ้านได้รับกัณฑ์โดยทั่วถึงกัน มอบหนังสือให้พระภิกษุสมเณรในวัดนั้น เพื่อเตรียมไว้เทศน์ นอกนั้นจะมีการนิมนต์พระจากวัดอื่นมาเทศน์ โดยจะมีฎีกาไปนิมนต์พร้อมบอกชื่อกัณฑ์และบอกเชิญชวนชาวบ้านที่วัดนั้นตั้งอยู่มาร่วมทำบุยด้วย ซึ่งตามปรกติเมื่อพระภิกษุสามเณรมาร่วมงานก็จะมีญาติโยมในหมู่บ้านนั้น ๆ ตามมาฟังเทศน์และร่วมงานด้วยหมู่บ้านและมาก ๆ หัวหน้าหรือผู้จัดงานในหมู่บ้านที่เป็นเจ้าของงานจะบอกบุญชาวบ้านในหมู่บ้านของตน ให้รับเป็นเจ้าของกัณฑ์เทศน์กัณฑ์ใด กัณฑ์หนึ่งจนทั่วถึงกันและบอกจำนวนคาถาของแต่ละกีณฑ์ให้ทราบด้วยเพื่อเตรียมความเทียนมาตามจำนวนคาถาของกันฑ์ที่คนซึ่งจำนวนคาถาของกัณฑ์ต่าง ๆ มีดังนี้ ทศพร ๑๙ คาถา หิมพานต์ ๑๓๔ คาถา ทานกัณฑ์ ๒๐๙ คาถา วนปเวสน์ ๕๗ คาถา ชูชก ๗๙ คาถา จุลพน ๓๕ คาถา มหาพน ๘๐ คาถา กุมาร ๑๐๑ คาถา มัทรี ๙๐ คาถา สักบรรพ ๔๓ คาถา มหาราช ๘๖ คาถา ฉกษัตริย์ ๓๐ คาถาและนครกัณฑ์ ๔๘ คาถา รวม ๑,๐๐๐ คาถาพอดีชาวบ้านยังแบ่งหน้าที่กันด้วยว่าใครเป็นผู้รับเลี้ยงพระภิกษุสามเณรและญาติโยมหมู่บ้านใด โดยแบ่งหน้าที่มอบให้รับผิดชอบเป็นกลุ่ม ๆ เนื่องจากแต่ละวัดมีชาวบ้านจากหลายหมู่บ้านไปร่วมกันมากชาวบ้านจึงช่วยกันปลูกที่พักชั่วคราวขึ้น เรียกว่า ตูบ (กระท่อม) หรือผาม (ปะรำ) จะปลูกรอบบริเวณวัดรอบศาลาหรือรอบกฏิก็ได้ ตูบมีขนาดกว้างประมาณ ๔ ศอก ยาวตามความเหมาะสม หลังคาเป็นรูปเพิงหรือเป็นจั่วก็ได้ พื้นปูด้วยกระดานหรือฟาก ที่พักนี้กะจัดทำให้พอเพียง และให้เสร็จเรียบร้อยก่อนวันเริ่มงาน
     มูลเหตุที่มีการทำบุญเผวส มีเล่าไว้ในเรื่องพระมาลัยหมื่นมาลัยแสนว่า พระมาลัยได้ขึ้นไปไหว้พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พบพระศรีอริยเทตไตรย พระศรีอริยเมตไตยได้ดำรัสสั่งกับพระมาลัยว่าถ้ามนุษย์อยากพบพระองค์ จงอย่าได้ทำบาปหนัก ได้แก่ ฆ่าหรือข่มเหงบิดามารดา สมณพราหมณาจารย์ทำร้ายร่างกายพระพุทธเจ้าและยุยงพระสงฆ์ให้แตกกัน ให้อุตสาห์ฟังเรื่องราวมหาเวสสันดรชาดกหรือเผวสให้จบในวันเดียวกันฟังแล้วให้นำไปประพฤติปฏิบัติจะได้พบพระศาสนาของพระองค์ เมื่อพระมาลัยกลับมาถึงโลกมนุษย์จึงได้บอกให้มนุษย์ทราบ โดยเหตุนี้ผู้ปรารถนาจะพบศาสนาพระศรีอริยเมตไตรย จึงพากันทำบุญเผวสสืบต่อกันมา
     วิธีดำเนินการ ก่อนมีงานบุญเผวสหลายวัน ชาวบ้านชายหญิงทั้งคนเฒ่าคนแก่ ซึ่งส่วนมากเป็นหนุ่มสาวพากันไปรวมกันที่วัด ช่วยกันจัดทำที่พักสำหรับผู้มาร่วมงานและช่วยกันจัดทำดอกไม้ จัดตกแต่งประดับประดาศาลาโรงธรรมด้วยดอกไม้ พวงมาลัยและธงทิว พวกผู้หญิงจะจัดทำหมากพันคำ เมี่ยงพันคำ เทียนพันธูปพันเทียน ปืนดาบอย่างละพัน และข้าวตอกดอกไม้ไว้บูชาคาถาพัน ดอกไม้ที่จัดมีดอกบัวพันดอก นอกนี้อาจมีดอกผักตบ ดอกกางของ (ดอกปีบ) อย่างละพันดอก (ดอกไม้ปรกติทำด้วยไม้แทน) ธงพันผืนทำด้วยเศษผ้า กระดาษสี ใบลานหรือใบตาลก็ได้ เสร็จจากการจัดดอกไม้ธูปเทียนธงและสิ่งดังกล่าวแล้ว ซึ่งด้วยสายสิญจน์ ตั้งหม้อน้ำมนต์ มีขันหมากเบ็ง(บายศรีประดับด้วยหมาก) แปดอัน โอ่งน้ำ ๔ โอ่ง ตั้งไว้ที่มุมธรรมาสน์ ในโอ่งน้ำมีจอก แหน (สาหร่าย) ดอกไม้ชนิดต่าง ๆ เช่น ดอกจิกดอกฮัง (ดอกเต็งรัง) ดอกบัว ดอกบานไม่รู้โรย ดอกรัก ฯลฯ และใบบัวปั้นรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น รูปนก รูปวัว รูปควาย รูปช้าง รูปม้า ฯลฯ เอาไว้ที่ใต้ธรรมาสน์ เอาธงใหญ่แปดวงปักรอบนอกศาลาในทิศทั้งแปด เพื่อหมายว่าเป็นเขตปลอดภัย ป้องกันพญามารไม่ให้ลำเข้ามา ตามเสาธงที่ใส่ข้าวพันก้อน ซึ่งปรกติสานเป็นพานด้วยไม้ไผ่ บางแห่งสานเป็นตาด้วยไม้ตอก เป็นคีรีวงกตไว้รอบศาลาและทำเป็นทางเข้าศาลาโรงธรรมคดเคี้ยวไปมา บนศาลานอกจากประดับประดาให้สวยงามแล้ว บางแห่งยังมีภาพมหาเวสสันดรชาดกประดับไว้ทางด้านตะวันออกของศาลาโรงธรรม ปลุกหออุปคุตขึ้นไว้พร้อมมีสิ่งเหล่านี้บนหอด้วยคือ มีบาตร ๑ ใบ ร่ม ๑ คัน กระโถน ๑ ใบ กาน้ำ ๑ ใบ แลสบงจีวร ๒ ชุด สำหรับพระอุปคุต การจัดตกแต่งดังกล่าวกะจัดให้เสร็จเรียบร้อยวันงานพอดี
     วันรวม (วันโฮม) วันแรกของงานเรียกว่า "วันรวมหรือวันโฮม" ในวันโฮมนอกจากจะมีประชาชนตามละแวกบ้านและหมู่บ้านอื่นที่ใกล้เคียงหลั่งใหลกันมาร่วมงานแล้ว จะมีพิธีงานที่สำคัญ ๒ อย่าง คือ
     ๑. การนิมนต์พระอุปคุต ในตอนเช้ามือของวันโฮม ประมาณสี่หรือห้านาฬิกา มีพิธีนิมนต์พระอุปคุตโดยก่อนเริ่มพิธีการ มีการนำก้อนหินขนาดโตพอสมควรสามก้อนไปวางไว้ในวังน้ำหรือถ้าไม่มีวังน้ำอาจเป็นที่ใดที่หนึ่งก็ได้ ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากวัดที่ทำบุญเผวสเท่าใดนัก พอถึงกำหนดเวลาก็มีการแห่พานดอกไม้ธูปเทียนขันห้าขันแปด (พานเทียนและดอกไม้อย่างละห้าคู่และแปดคู่) ไปยัง ณ สถานที่ก้อนหินวางอยู่ซึ่งสมมุติว่าเป็นพระอุปคุต พอไปถึงที่ดังกล่าวจะมีผู้หยิบก้อนหินชูขึ้นและถามว่าเป็นพระอุปคุตหรือไม่ สองก้อนแรกจะได้รับคำตอบว่า "ไม่ใช่" พอถึงก้อนที่สามจึงจะตอบว่า "ใช่" จึงมีการกล่าวคำอาราธนาพระอุปคุตแล้วอัญเชิญก้อนหินก้อนที่สามซึ่งสมมุติใส่พานหรือถาม และจะมีการจัดประทัดหรือปืนกันตูมตาม แล้วมีการแห่พระอุปคุตพร้อมตีฆ้องตีกลองและเครื่องดนตรีมีแคน เป็นต้นอย่างครึกเครื้นเข้ามายังวัดแล้วจึงนำมาประดิษฐ์สถานไว้ที่หออุปคุตข้างศาลาโรงธรรม ซึ่งเตรียมจัดไว้แล้ว พอแห่พระอุปคุตเข้ามาประดิษฐานไว้เรียบร้อยผู้ชอบสนุกก็จะตีฆ้องและกลองพร้อมเครื่องดนตรี แห่แหนฟ้อนรำรอบ ๆ วัดและตามละแวกหมู่บ้านตามอัธยาศัย
การนิมนต์พระอุปคตมาเมื่อมีงานบุญเผวส
เพื่อให้มีความสวัสดีมีชัย และเพื่อให้การจัดงานสำเร็จราบรื่นด้วยดี
     มูลเหตุดั้งเดิมมีการนิมนต์พระอุปคต มีเรื่องเล่าว่าพระอุปคตเป็นพระเถระผู้มีฤทธิ์ได้นิรมิตกุฎีอยู่กลางมหาสมุทร ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงรวบรวมพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าจากที่ต่าง ๆ เอามาบรรจุไว้ในสถานที่พระองค์สร้างใหม่ เสร็จแล้วจะจัดงานฉลอง พระองค์ทรงพระปริวิตกถึงมารที่เคยเป็นศัตรูกับพระพุทธเจ้า เกรงว่าการจัดงานจะไม่ปลอดภัยจึงมีรับสั่งให้ไปนิมนต์พระอุปคตมาในพิธี ฝ่ายพญามารรู้ว่าพระเจ้าอโศกมหาราชจะฉลองพระสถูป จึงพากันมาบันดาลอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ พระอุปคตจึงบันดาลฤทธิ์ตอบ ครั้งสุดท้ายพระอุปคตเนรมิตเป็นสุนัขเน่าแขวนคอมารไว้ มารไม่สามารถแก้ได้ เอาไปให้พระอินทร์ช่วยแก้ให้ พระอินทร์ก็แก้ไม่ได้ มารจึงยอมสารภาพผิด พระอุปคตแก้ให้แล้วกักตัวมารไว้บนยอดเขา เสร็จพิธีแล้วจึงปล่อยให้ตัวมารไปพระเจ้าอโศกมหาราชและผู้ร่วมงานนั้นจึงปลอดภัย โดยเหตุนี้เมื่อมีพิธีเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเช่น บุญเผวส จึงได้มีการนิมนต์พระอุปคุตมาด้วย เพื่อเป็นการป้องกันภยันตรายต่าง ๆ และให้เกิดสวัสดิมีชัยดังกล่าวแล้วก่อนพระเทศน์เอาคาถาพระอุปคุตทั้งสี่บทปักไว้ข้างธรรมาสน์ทั้งสี่ทิศด้วยคำอาราธนาพระอุปคุต และคาถาพระอุปคุต มีด้งนี้
คำอาราธนาพระอุปคุต
     โอกาสะ โอกาสะ ฝูงข้าทั้งหลาย อภิวันท์ไหว้ยังพระมหาอุปคุตผู้ประเสริฐ มีศักดาเลิศปรากฏ ทรงเกียรติยศขีณากว่าพระอรหันตาทั้งหลาย ข้าขออาราธนามหาเถระผู้มีอาคมแก่กล้า จงเสด็จแต่น้ำคงคา มาผจญมารร้ายด้วยบาทพระคาถาว่า อุปคุตโต มหาเถโร คิชฌะกูโฏ สมุททะโย เอกะมาโร เตชะมาโร ปะลายันตุ ฝูงข้าทั้งหลายขออาราธนามหาเถระเจ้า จงมาผจญมลมารทั้งห้า ใต้ลุ่มฟ้าและเวหน ภายบนแต่อกนีฏฐานเป็นเค้าตลอดเท่าถึงนาคครุฑ มนุษย์เทวา ผู้มีใจสาโหด โกรธาโกรอธรรม ฝูงมีใจดำบ่ฮุ่ง หน้ามืดมุ่งมานมัว ถ้ำฝายเหนือและขอกใต้ทั้งที่ใกล้และที่ไกล ตะวันตกและตะวันออก ขอบเขตภูมิสถาน อันฝูงข้าทั้งหลายจักฟังพระธรรมเทศนา ในสถานที่นี้ ขออัญเชิญพระอาทิตย์ผู้วิเศษใสแสง พระจันทร์แยงเยืองโลก อังคารโผดผายผัน พุธพฤหัสพลันแวนเที่ยว ศุกร์เสาร์เกี่ยวคอยระวัง กำจัดบังแวดไว้ เทพไท้ตนลือฤทธิ์พระพาย แมนมิตรไตรสถาน พระอิศวรผันผายแผ่รัศมีแก่แตโช ผาบศัตรูมาฮ้าย ในคุ้มข่วงเขตสถาน อันฝูงข้าทั้งหลายจักยอทานและและฟังเทศน์ องค์เทเวศจงฮักษากำจัดประดามารโหดร้าย ให้พลัดพ่ายกลับหนี อย่าฮาวีข่วงเขตที่นี้ก็ข้าเทอญ
     โย โย อุปคุตโต มหาเถโร ยัง ยัง อุปคุตตัง มหาเถรัง กายัง ฟันธะมะรัส สะดีวัง สัพเพยักขา ปะลายันตุ สัพเพ ภยา ปะลายันตุ สัพเพ ปิสาจา ปะลายันตุ ฝูงผียักษ์และผีเสื้อ ฝูงเป็นใจพญามาร สูทานทั้งหลายมีใจ อันมักผาบแพ้ตนประเสริฐ สัพพัญญู ปะลายันตุ จงผันผายออกหนี จากขอบเขตประเทศที่นี้ ก็ข้าเทอญ
คาถาพระอุปคุต
     บทที่หนึ่ง อุปคุตโต มหาเถโร เยนะสัจเจนะยะสัจ วาชิปุเร อะหหุสัจจะ วัชเชนะ วิสัง สามัส สะหัญญะตุ
     บทที่สอง อุปคุตโต เยนะสัจเจนะ ยะสาโม สัจจิวา มาตา เปติภะโรอาหุ กุเรเชฏฐา ปัจจายิโน เอเตนะสัจจะ วัชเชนะ วิสสา มัสสะหัญญตุ
     บทที่สาม อุปคุตโต เยนะสัจเจนะ ยะสาโม ปานาปิ ยัตตะโร มะมะ เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ วัสิง สามัสสะ หัญญะตุ
     บทที่สี่ อุปคุตโต ยะจิน จิตตะ ปุญญะมังทะ เจวะ สิตุจะเต สพเพนะเต สาเลนะ อิสามัสสะหัญญะตุ
     ๒. การแห่เผวส พอตอนบ่ายประมาณสองหรือสามโมงในวันโฮม ชาวบ้านมารวมกันที่วัด เตรียมตัวจัดขบวนแห่ไปอัญเชิญพระเวสสันดรและนางมัทรีเข้าเมือง โดยสมมุติให้พระเวสสันดรและนางมัทรีเข้าเมือง โดยสมมติให้พระเวสสันดรและนางมัทรีไปอยู่ป่าแห่งใดแห่งหนึ่งซึ่งอาจเป็นป่าจริงหรือทุ่งนา หรือลานหญ้าก็ได้แล้วแต่ภูมิประเทศจะอำนวย พิธีการอัญเชิญพระพุทธรูป ๑ องค์ และพระภิกษุ ๔ รูป ขั้นนั่งบนเสลี่ยงหามไปยัง ณ ที่สมมุติว่า พระเวสสันดรและนางมัทรีประทับอยู่ (ไม่ห่างจากวัดเท่าใดนัก) พอไปถึงที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นที่เริ่มต้นแห่เผวส ก่อนเริ่มต้นแห่มีการอาราธนาศีลและรับศีลและห้าก่อน แล้วทำพิธีบายศรีสู่ขวัญพระเวสสันดรกับนางมัทรีนิมนต์พระเทศน์กัณฐ์ฉกษัตริย์ เสร็จแล้วกล่าวอันเชิญพระเวสสันดรและนางมัทรีเข้าเมือง โดยหามเสลี่ยงพระพุทธรูป และพระภิกษุออกก่อน บางแห่งหากมีรูปภาพเกี่ยวกับเรื่องพระเวสสันดร ก็จะแห่รูปภาพดังกล่าวไปในขบวนด้วย พอขบวนแห่ถึงวัดจึงทำการแห่รอบวัดหรือศาลาโรงธรรมโดยเวียนขวารอบ แล้วนำพระพุทธรูปไปประดิษฐานไว้ ณ ที่เดิม และนำดอกไม้ธูปเทียนไปวางไว้ ณ ที่จัดไว้ ประชาชนจึงกลับไปพักผ่อน พอถึงตอนค่ำประชาชนจะมาโฮม (รวม) กันอีกครั้งจึงอาราธนาพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ เมื่อพระสวดพระพุทธมนต์จบ พระจะขึ้นสวดบนธรรมมาสน์อีก ๔ ครั้ง ๆ ละ ๒ รูป รวม ๘ รูป คือ สวดอิติปิโส โพธิสัตว์บั้นต้น-บั้นปลายและสวดชัยตามลำดับ ต่อไปนี้นิมนต์พระขึ้นเทศน์พระมาลัยหมื่น พระมาลัยแสน ก่อนพระเทศน์เอาคาถาพระอุปคุตทั้งสี่บทปักไว้ที่ข้างธรรมาสน์ดังกล่าวแล้ว เมื่อพระเทศน์จบตอนนี้แล้ว ประชาชนจะกลับไปพักหรือคบงับกันต่อไปตามอัธยาศัย ระหว่างคบงันพวกหนุ่ม ๆ สาวๆ จะพูดจาเย้าหยอกเกี้ยวพาราสีกัน บางก็ร้องรำทำเพลงเป่าแคนและดีดพิณจนจวนสว่าง (ราว ๓ หรือ ๔ นาฬิกา) ชาวบ้านจึงแห่ข้าวพันก้อนไปถวายพระอุปคุตที่วัดแล้ววางข้าวพันก้อนไว้ตามธงหรือตามภาชนะที่จัดไว้ เสร็จแล้วพอใกล้สว่างก็ประกาศป่าวเทวดาและอาราธนาพระเทศน์สังกาส หลังจากฟังพระเทศน์สังกาสแล้วจึงอาราธนาเทศน์มหาชาติ พระจะเทศน์มหาชาติตลอดวัน ขึ้นต้นจากัณฑ์ทศพรจนถึงนครกัณฑ์ เมื่อจบแล้วมีเทศน์ฉลองพระเวสสันดรอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งกว่าจะเทศน์จบทุกกัณฑ์ก็ต้องค่ำพอดีเมื่อเทศน์มหาชาติจบจัดขันดอกไม้ธูปเทียนกล่าวคำคารวะพระรัตนตรัยเป็นเสร็จพิธีบุญเผวส
     การนิมนต์พระอุปคุตและแห่พระเวสสันดรกับนางมัทรีเข้าเมือง บางแห่งถ้าจัดงานสามวัน จะจัดเป็นวันโฮมวันหนึ่ง โดยนิมนต์พระอุปคุตในตอนเช้าของวันโฮม วันที่สองตอนบ่ายจึงทำการเชิญพระเวสสันดรกับนางมัทรีเข้าเมือง วันที่สามจึงเทศน์มหาชาติ
     อนึ่ง ในระหว่างงานบุญ ปรกติจะมีชายสูงอายุคนหนึ่ง นุ่งขาวห่มขาวเป็นผู้คอยปรนนิบัติดูและพระอุปคุตและบริเวณศาลาโรงธรรม โดยถือศีลแปดและจะต้องอยู่ประจำบนศาลาโรงธรรมจนตลอดงานส่วนก้อนหินที่สมมุติว่าเป็นพระอุปคุตนั้น เมื่อเสร็จงานบุญเผวสแล้วก็มีการนิมนต์ไปไว้ยัง ณ ที่เดิมด้วย
สำหรับคำสู่ขวัญพระเวสสันดร คำป่าวเทวดา คำอาราธนาเทศน์ต่าง ๆ และคำถารวะพระรัตนตรัยมีดังต่อไปนี้
คำสู่ขวัญพระเวสสันดร

     ศรี ศรีสวัสดีปัญญะมัย ไตรรัตนะวรดิตถี อิมุติตะโชติ ประสิทธิโยดพร้อมนักขัดดา พระจันทร์พระจรใสเสร็จ เสด็จเข้าใกล้แพงภาค จากนักขัตฤกษ์ชื่อว่า ..... (ออกชื่อราศี) ภายในมี ..... (ออกชื่อเจ้าอาวาส) เป็นเค้า ภายนอกมี…..(ออกชื่อผู้เป็นหัวจัดงาน) พร้อมกันเลื่อมใส ในวรพระพุทธศาสนาเป็นอันยิ่งฝูงข้าทั้งหลายจึ่งพร้อมกันมา ราชาบายศรี ศากยมนีหน ตนเป็นครูสั่งสอน สัตตนิกรอยู่จี้จอยจึงแจ้งบ่ขาด ปางเมื่อเจ้าสิทธารถละฆราวาสห้องบุรี เจ้าก็บายพระขรรค์ชัยศรี ตักเกศเกล้าโมฬี เจ้าก็หนีไปบวชสร้างผนวชให้หกพระวัสสา ก็จึงได้เรื่องรัตน์ ตรัสเป็นสัพพัญญตญาณ การเป็นพระ แทบเท้าไม้พระศรีมหาโพธิ เป็นเจ้าโผดสงสาร วันนั้นก็มีแลชัยยะตุภะวัง ชัยยะมังคะลัง (ให้สวด ๓ จบสวดเสร็จแต่ละจบ ให้ตีฆ้อง ๑ ที แล้วจึงแห่เผวสเข้าเมือง)
คำอาราธนาเทศน์พระมาลัยหมื่น
      สุระหิตัง นิจจัง ตังตัง ธัมมัง วันทามิ ข้าไหว้บาทนาโถ กับทั้งพระศรีมหาโพธิ กุศลโสตมวลมา มีอัตราข้าไหว้นับได้ด้วยโกฏิ เทพพระมาลัยโปรดปรานี ตั้งไว้ดีบ่เศร้า ข้ากราบเศียรเกล้าวันทา ด้วยมาลาดวงดอกพร้อมด้วยข้าวตอกบรรณาการ ทั้งข้าวเปลือกข้าวสารผายแผ่ บูชาแก่ให้สัพพัญญู องค์พุทโธผู้ประเสริฐ อัคคะเลิศองค์พระธรรม สังโฆนำบ่ขาด ตามโอวาทคำสอน ชีณาวรองค์ประเสริฐ สมมุติสงฆ์เลิศทรงธรรม พวกข้าน้อมนำมาพร่ำพร้อมน้อมกายและอินทรีย์ จิตยินดีบ่ประมาท ฟังโอวาทคำสอน ในบวรพุทธศษสน์ ด้วยบาทพระคาถาว่าโยโส สุนทะหิตัง ธัมมัง วะรัง สักกัจจัง อาราธนัง กะโรมะ
คำอาราธนาเทศน์พระมาลัยแสน
      ยังยัง สัทธัมมะ วะรัง ตะทัตตัปปะโก ระสะตัง สักกัจจัง นะมัสสามิ ฝูงข้าทั้งหลาย นรหญิงชายถ้วนถี่พร้อมภาคที่วันทา ยกมือมาใส่เกล้า ก้มกราบเท้านาโถ องค์พุทโธล้ำยิ่ง พร้อมทุกสิ่งสักการ ด้วยจิตบานเฮือง ฮุ่นมุ่งมาดแผ่บุญกุศล หวังเอาตนข้ามโอฆะ พ้นจากโลกสงสาร ขอให้ได้พบศาสนาของพระศรีอารย์ไว้วาทองค์พระบาทอนาคต ทรงเกียรติยศไขธรรม อันจักนำมาตรัสในภายหน้า ขอให้ข้าได้สัมฤทธิ์ บวรมัยมิตรเห็นธรรมโสดานำบังเกิด ไกลจากโลกอสัญญี อวิจีแสนส่ำ พ้นภาคต่ำสู่ญาณทอง เดิมตามคลองอันวิเศษ ตัดกิเลสสวัฎฎะวนพร้อมทุกคนผายแผ่ กัณฑ์มาลัยแสนผายแผ่กว้างเมตตาธรรม ข้าน้อมนำบ่ขาด บ่ประมาทตั้งใจฟัง ขอให้สมหวังในชาตินี้และชาติหน้า พวกข้าน้อยวันทา ตามบาทพระคาถาว่า อัตถะธัมมัง ปะกาเสถะโน โอกาสะ อารานัง กะโรมะ
คำป่าวเทวดาฟังธรรมลำมหาชาต
      สุณันตุ โภนต เย เทวา สังหา ดูราเทพเจ้าทั้งหลาย หมายมีอินทรเจ้า เป็นเค้าเป็นประธาน กับทั้งโสฬสมหาพรหมตนทรงญาณลือเดช พระอาทิตย์ตนวิเศษใสแสง จันทร์จรแฮงเฮืองฮุ่งราหูพุ่งรัศมี ทั่วทิศาปราสาทจตุราชโลกบาล อิศวรสารแสนส่ำ ธรณีพร่ำมวลมา เมขลาไกวแก้วแกว่ง ทั่วทุกแห่งอันฮักษา ทั้งภูผาและเถื่อนถ้ำทั้งย่านน้ำและเหวหิน ทั้งแดนดินและเถื่อนกว้าง ทั้งย่านน้ำและวังฮี ทั้งโบกขรณีและหย่อมหญ้า ทุกแหล่งหล้าและโพธิ์ศรีทั้งเจดีย์และแก้วกู่ อันฮักษาศาสนาอยู่อาฮามเขต ประเทศภูมิสถาน ก้ำฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ ทุกเทศท่องอาณาทั้งคูหาและแถวถี่ ขออัญเชิญเทพไท้ทุกที่แดนไกล พวกฝูงข้าทั้งหลาย ขออัญเชิญเทพแก่ไท้ทั้งมวล ในหมื่นโลกธาตุอากาศจักรวาล ขอจงพร้อมกันเสด็จลีลา ลงมาช่องหน้า พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้า แล้วจังพร้อมกันเข้ามาฟังยังลำมหาชาติ ขอจงสำเร็จความปรารถนา พวกหมู่ข้าทั้งหลาย ทุกคนทุกคน ก็ข้าเทอญ
คำอาราธนาเทศน์สังกาส
      ชัยะตุ ภะวัง ชัยะตุ ภะวัง ชัยะมังคะลัง บวรวิลาส องค์พระบาทสิทธารถราชกุมาร สมภารเพ็งบ่ขาดเป็นปัจฉิมชาติโพธิสัตว์ ปฏิบัติถ้วนถี่ ใจแจ้งที่สงสาร มียศญาณบ่โศก บริโภคทวยธรรม์ สัพพะสรรพ์ทุกสิ่งเป็นลูกมิ่งท้าวสุทโธ ใจโกศลแสนโยชน์ ปางเมื่อซิได้โผดฝูงสัตว์ สมภารพันธ์เต็มดี ยามนอนฮ้อนอินทรีย์สะดุ้งตื่นเดิกดื่นผู้คนนอน เจ้าก็จรเสด็จไปยังปราสาท เดียรดาษนักสนม บางน่องนอนปะนมและปะกัน บางน่องนอนอ้าปากและขบฟัน นางน่องนอนมืนตาและยิ่งแข้วน้ำลายไหล วิกลวิการไปหลายหลาก พร้อมทุกภาคมเหสี นอนหลับดีอยู่ดีด้อย กอดลูกน้อยราหุล เลยลวดชักม้า ไปสู่แม่น้ำอันเชื่อว่าอโนมานที ยกพระขรรค์ดวงดีตักเกล้าเกศ ทรงเพศบรรพชาจึงแก้ววรกัณฐัก เลยลวดชักม้า ไปสู่แม่น้ำอันเชื่อว่าอโนมานที ยกพระขรรค์ดวงดีตัดเกล้าเกศ ทรงเพศบรรพชาจึงกล่าวคาถาว่า กรินทัง สีรสา นมามิ ดังนี้เป็นเค้า ตราบต่อเท่าเข้าสู่นิพพาน ก็ข้าเทอญ
คำอาราธนาเทศน์มหาชาติ
      ศรี ศรี บวรไม่ตรี ชัยะโชค ข้าขออัญเชิญท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ พร้อมทุกที่ทวยธรรม ทั้งสุบรรณครุฑนาคสักโกภาคภายนบน ปัญจมารมลทั้งตัว จงผาบแพ้ผจญมาร ยมภิบาลท่านไท้ อยู่ป่าไม้และวงกต ทั้งบรรพตและคูหา ขออัญเชิญธรณีนางนาถ ขมวดวาดมวยผม เป็นนทีผาบมารในแท่นแก้ว มารคลาดแคล้วกลับหนี อัญชลีกราบไหว้เชิญทั้งเทพไท้ภายบน จงเอาตนเข้ามาฟังธรรมจำศีลทุกเมื่อ อย่าได้เบื่อคลองธรรม อันจักนำมาในอดีตชาติกฎในบาทพระ คาถาในนิกายทั้งห้า กฏไว้ว่าแวนตระการ เป็นตำนานบทเค้า นักปราชญ์เจ้านำมา ในมหาเวสสันดรราชาปฐมมาเป็นเค้า ฟังเยอนักปราชญ์เจ้าน้อยหนุ่มพรศรี จงมีใจอดใจเพียร กระทำดีอยู่ดีด้วยดีด้อยขวนขวายหามาลาดอกไม้ใหญ่น้อยให้ได้พอพัน อุบลบานไขกาบ กับทั้งของพาบพร้อมอย่างละพัน ดอกผักตบไขช่องกาบบัวหลวงพาบพร้อมพอฟัน ประทีปน้ำมันมาบ่ขาด ธงกระดาษและธงชัย ประดับไปทุกแห่ง ข้าวพันก้อนแบ่งพอพันวางเป็นถันสพาส อย่างประมาทละเพียรเสีย ทั้งผัวเมียและลูกเต้า พร้อมใจกันเข้าภาวนา ถือมาลาดวงดอกไม้ก้มกราบไหว้วันทา มือหูตาจดจ่อ ตั้งใจต่อกองบุญ ให้เป็นคุณและประโยชน์ พ้นจากโทษและเวรกรรม จิตใจนำพร่ำพร้อมน้อมหน้าอยู่สนลน จิตใจตนอย่าประมาท มักจักเป็นบาปฮ้ายยิ่งหนักหนา คือ ดั่งนางอมิตตาหนุ่มเหน้า ได้พราหมณ์เฒ่าเป็นผัวนางบ่กลัวเกรงบาป ฟังธรรมหากเหงานอน จิตใจวอนนำชู้ บาปกรรมผู้นำเถิงโต ได้สามีโซ่ถ่อยเฒ่าทุกข์ยากเข้าบ่มีวาง กรรมของนางแวนเที่ยว เวรผู้เกี่ยวพัวพัน กรรมตามทันจึงมีโทษ น้อยหนุ่มโสดจงอุตสาห์ถือมาลานบน้อม พร้อมลูกเต้าและนัดดา จิตโสภาอย่าประมาท ฟังโอวาทชาดก พระองค์ยกทรงสอน ทศพรกัณฑ์ เคลื่อนคลาด จรจากสวรรค์ สมทันเทียมทุกที่ สมมุ่งมาดที่นางประสงค์ อินทราทรงทานทอด พรยอดแก้วบรบวน ตามสมควรบ่ขาด ได้เป็นพุทธราชมารดา องค์สัตถาแก่นเหง้า ท่านกฎเข้าชื่อทศพร หิมพานวอนพราหมณ์เที่ยวพราหมณ์เฒ่าที่เที่ยวขอทาน หิมวันซอกไซ้ ท่านกฎไว้ว่าหิมพาน ทานกัณฑ์คชสารช้างเผือก พระองค์เลือกยกขึ้นยอทาน ฝูงกันคารคนขมอด แลกแก้วยอดดวงโพธิญาณ ตามตำนานท่านกฏไว้ วนปเวสน์ใกล้เข้าสู่วงกต ชูชกพราหมณ์ใจคดเที่ยวขอ จุลพนไพรแถวถี่ มหาพนยิ่งแวนตระการ สองกุมารทานทอด ท่านขอดไว้ชื่อกัณฑ์กุมาร มัทรีตามแวนเกี่ยว นางนาถเที่ยวทัวระวัย ในพงไพรเถื่อนกว้าง ท่านกล่างอ้างว่ากัณฑ์มัทรี สักกบรรพมีหลายภาค นำนาถน้อยสองศรี หลงคีรีป่าไม้ เข้าฮอดไท้สญชัย อัตถ์ไขชื่อว่ากัณฑ์มหาราช ฉกษัตริย์ภาคเทียวทัน เชิญจอมธรรม์ทั้งสี่ออกจากที่วงกต บำเพ็ยพรตลาไล กลับเวียงชัยนครกว้าง ท่านกล่าวอ้างว่ากัณฑ์นครเป็นคำสอนถ้วนถี่ กฎไว้ที่ชาดก พระองค์ทรงยกเห็นสมภารเพ็ญจีไจ้จีไจ้ น้อยนาถไท้ลุนหลัง ตั้งใจฟังในอดีตชาติ ตามบทบาทพระคาถาว่าอาทิกัลยาณัง มัชเฌกัลยาณัง ปริโยสานกัลยาสาตถัง สัพพยัญชนัง เกวลปริปุณณัง ปริสุทธัง มหาเวสันตรชตกัง พรหมจริยัง ปกาเสถโน โอกาสะ อาราธนัง กะโรมะ
คำคารวะพระรัตนตรัย
(กล่าวตอนเทศน์เผวสหมดทุกกัณฑ์และเทศน์ฉลองเผวสแล้ว
ก่อนผู้ไปร่วมฟังเทศน์กลับบ้าน)
     โอกาสะ โอกาสะ ฝูงข้าทั้งหลาย ทั้งหญิงชายและนงค์ท่าว ทั้งผู้บ่าวและผู้สาว ทั้งลุงอาวและพ่อแม่ทั้งเฒ่าแก่และลุงตา ทั้งท้าวพญาเสนาและอำมาตย์ ทั้งนักปราชญ์และปุโรหิต ทั้งบัณฑิตและชาวเมือง มีศรัทธาเฮืองพร่ำพร้อม ใจอ่อนน้อมในธรรม บางพ่อมีเงินคำ ตามแต่ได้ บางพ่อมีดอกไม้และเผิ้งเทียน ใจเสถียรชมชื่นยายื่นพร้อมกันมา มีดีลาและเมี่ยงหมาก หลายหลาก พร้อมอาหารมีเครื่องหวานเป็นเค้า คือว่าข้าวต้มและข้าวหนมประสมกับข้าวมธุปายาส ข้าวปาดและข้าวมัน สัพพะสรรพปิ้งจี่ หมกมอกหมี่แกมแกง เป็นของแพงอันประณีตแซบซ้อยจืดเพิงใจ มโนมัยตกแต่ง พร้อมกันแล้วจึงนำมาถวายบูชาเลิศแล้ว แต่พระแก้วเจ้าทั้งสาามในอาฮามข่วงเขต ถวายแด่เจ้ากูตนวิเศษ ก็หารแล้วบรบวน
     บัดนี้ฝูงข้าทั้งหลาย จึงประมวลมายังเครื่องบูชาทั้งหลาย ๒ ประการ คือ อามิสบูชา และขันธบูชาภายในและภายนอก บูชาภายในคือจิตใจและขันธ์ทั้งห้า แห่งฝูงข้าทั้งหลายภายนอกนั้นคือ ข้าวตอก ดอกไม้และธูปเทียนอันฝูงข้าทั้งหลายได้ตั้งใจเลียนตั้งไว้ช่องหน้าแล้ว ก็จึงอธิษฐาน ให้เป็น ๕ โกฏฐาส
     ปฐมโกฏฐาสถ้วนหนึ่งนั้น ฝูงข้าทั้งหลาย ขอถวายสมมาบูชาแต่สัพพัญญเจ้า ตนเป็นเค้าโผดสัตว์โลกเนืองนอก โกฏฐานอันถ้วนสองนั้น ฝูงข้าทั้งหลาย ขอถวายสมมาบูชาแด่นวโลกุตตรธรรมเก้าเจ้าดวงงาม โกฏฐานอันถ้วนสามนั้น ฝูงข้าทั้งหลาย ขอถวายสมมาแต่พระอริยสงฆ์ ตนทรงศิลาอันถ้วนถี่ โกฏฐานอันถ้วนสี่นั้นฝูงข้าทั้งหลาย ขอถวายสมมาบูชาแต่สถูปฮูปพระพุทธเจ้าและเจดีย์ ทั้งพระศรีมหาโพธิ์อันอยู่ในหมื่นโยชน์ชมพู ดูตระการงามในมนุษย์แหล่งหล้า โกฏฐานอันถ้วนห้านั้น ฝูงข้าทั้งหลาย ขอถวายสมมาบูชาแต่เทพบุตรเทพดาพระอินทร์ พระพรหม พญายมบาล ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ นางน้อยนาถเมขลานางธรณีอีสูรย์เป็นเค้า อันเป็นเจ้าพสุธา ฝูงข้าทั้งหลายบ่อาจจักนับจักคณนาได้ ลำดับต่อเลียนกันมายังโทษอันเป็นเค้า ตราบต่อเท่าปัดนี้ก็ดี โทษอันเกิดจากการวจี มโนทวารดีถีจิตใจ หลอนว่าได้ปากโพดและได้กล่าววาจา ได้ครหาติเตียนพระพุทธฮูปเจ้าว่าบ่งาม องค์ฮามนั้นช่วงสูงสักสะหน่อย องค์น้อยนั้นยังต่ำพอประมาณองค์กลางนั้นหนาบางบ่ช่อยโชติ องค์ใหญ่นั้นว่าหนาโพดบ่เสมอกัน หลอนว่าได้ติเตียนพระจอมธรรม์ว่ามีสีอันเศร้า ขอพระพุทธเจ้าจงโผดกูณา อย่าได้เป็นโทษานุโทษต้อง เป็นบาปต้องอยู่ในวัฏสงสาร ก็ข้าเทอญ
     ประการหนึ่ง ฝูงข้าทั้งหลายได้ตกแต่งทาน มีทั้งเครื่องหวานและเครื่องส้ม มีทั้งเครื่องต้มและเครื่องแกงหลอนว่ามีดำแดงตกใส่ เป็นฝุ่นไหง่ปลิวไป เป็นของสุดวิสัยบ่ฮู้เมื่อคือว่าเชื่อใจแล้วจึ่งนำมาถวายบูชาและเคนแจกแด่พระแก้วเจ้าทั้งสาม ในอาฮามข่วงเขตถวายแด่เจ้ากูตนวิเศษก็หากแล้วบรบวน
     บัดนี้ ฝูงข้าทั้งหลาย ทั้งตายายและเด็กน้อย ยืนละห้อยแล่นนำมา นำลุงตาและพ่อแม่ เข้าฮู้แต่เล่นและยินดีบางพ่อตีหิงตีและนางช่าวง บางพ่องย่างไปมาตามภาษาเด็กน้อยบางพ่องไห้อิ่นอ้อยอยากกินนม บางพ่องได้เหยียบตมเข้ามาในข่วงเขต บางพ่องปลิดหมากไม้ผลา บางพ่อปลิดอัมพวามี้ม่วง บางพ่อเล่นเต้นส่วงหยอดไยกันโรหันตาฮ้องไห้ ได้ไม้ค้อนแล้วไล่ตีกันส่งเสียงนันในวัด บ่สงัดเมื่อฟังธรรม เป็นคลองบ่ยำและประมาท หลอนว่าได้นั่งฮ่วมสาด และฮ่วมหนัง ได้นั่งต่าวหลังและต่าวข้าง หลอนว่าได้ปล่อยข้างม้าและงัวควายเข้ามาในเขต ขอแก่เจ้าตนวิเศษจงอนุญาตให้ อย่าได้เป็นโทโสโทษต้องเป็นบาปข้างนำไปสุดวิสัยเมื่อจักมรมาศ ครั้นว่าคลาดคลาดแล้ว ขอให้ได้เมื่อเมืองแก้ว ชื่อนีรพาน ก็ข้าเทอญ
     จัตตาโร ธัมมา อันว่าธรรมทั้งสี่ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ จงประวัตตนาการ ในขันธสันดานแห่งฝูงทั้งหลาย ทุกตนทุกตน ก็ข้าเทอญ
นอกนี้มีเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับบุญเผวสอีก ดังต่อไปนี้
     ๑. กัณฑ์เทศน์ ตามปรกติการเทศน์มหาชาติทุกกัณฑ์ จะต้องมีชาวบ้านเป็นเจ้าภาพจัดเครื่องกัณฑ์มาถวายกัณฑ์หนึ่ง ๆ อาจมีหลาย ๆ คนช่วยกันจัดร่วมกัน หรือต่างคนต่างจัดกัณฑ์มาก็ได้กัณฑ์เทศน์นอกจากปัจจัยไทยทาบต่าง ๆ แล้ว ยังมีเทียนตามจำนวนคาถาของแต่ละกัณฑ์ด้วย จำนวนเทียนคาถาของแต่ละกัณฑ์ได้กล่าวไว้แล้วข้างตน ซึ่งเมื่อรวมทุกกัณฑ์แล้ว จะมีเทียนคาถาหนึ่งพันพอดี เมื่อเวลาพระที่ตนรับกัณฑ์ขึ้นเทศน์ เจ้าภาพก็จะจุดเทียนคาถา หว่านข้าวตอกข้าวสารตามประเพณี ในระหว่างเทศน์บางทีมีการถวายกัณฑ์เพิ่มเติม เรียกว่า "กัณฑ์แถมสมภาร" คือถึงบทใดกัณฑ์ใดที่พระเทศน์ดีมีเสียงไพเราะ มีเนื้อความกินใจ ผู้ฟังจะถวายแถมกัณฑ์ให้แล้วแต่ศรัทธาของผู้ฟัง ส่วนใหญ่จะถวายเป็นเงิน เมื่อเทศน์จบจะเอาเงินที่แถมสมภารนี้ไปถวายรวมกับปัจจัยกัณฑ์เทศน์ด้วยเมื่อเทศน์จบกัณฑ์หนึ่ง ๆ มีการตีฆ้องเป็นสัญญาณ
     ๒. เทศน์แหล่ คือ ทำนองเทศน์เล่นเสียงยาว ๆ คล้ายทำนองลำยาว มีการเล่นลูกคอและทำเสียงสูงต่ำเพื่อให้เกิดความไพเราะ เรื่องมหาชาตินี้ ที่นิยมเทศน์แหล่ได้แก่ กัณฑ์มัทรี กัณฑ์มหาราชหรือนครกัณฑ์การเทศน์แหล่จะนิมนต์พระที่เสียงดีมาเทศน์คั่นกลาง เพื่อช่วยให้ผู้ฟังเกิดความไพเราะซาบซึ้ง ไม่เกิดการเบื่อหน่ายที่ต้องฟังเทศน์นาน ๆ การเทศน์แหล่นี้บางแห่งก็ไม่มีเทศน์กัน
     ๓. กัณฑ์หลอน คือ กัณฑ์เทศน์ที่ทำพิธีแห่ไปจากบ้าน ไม่จำเพากัณฑ์ใดกัณฑ์หนึ่งและไม่เจาะจงจะถวายพระรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อแห่กัณฑ์หลอนไปถึงวัด พระรูปใดกำลังเทศน์อยู่ เมื่อท่านเทศน์จบก็นิมนต์มารับกัณฑ์หลอนกัณฑ์นั้น กัณฑ์หลอนส่วนใหญ่จะทำด้วยกระจาดสานด้วยไม้ไผ่ มีคานหามใส่ของกินของใช้ที่มีผู้บริจาคพร้อมด้วยเงินและทำเป็นต้นประดับประดาอย่างสวยงาม การจัดกัณฑ์หลอนมักเป็นกลุ่มคนรวมกันจัดขึ้น อาจมีเจ้าภาพหลาย ๆ คนมาร่วมกัน พวกหนุ่มสาวร่วมกันจัดทำขึ้นบ้าง คนเฒ่าคนแก่ พวกพ่อค้า กลุ่มบ้านเหนือ กลุ่มบ้านใต้รวมกันจัดขึ้นบ้าง เมื่อเสร็จแล้วก็แห่ไปรอบ ๆ หมู่บ้าน ผ่านบ้านนั้นก็มักถวายปัจจัยไทยทานสมทบกัณฑ์ด้วยเป็นการร่วมสามัคคีกันไปในตัว การแห่กัณฑ์หลอนมักทำกันอย่างสนุกสนาน มีการตีฆ้อง ตีกลอง เป่าแคนดีดพิณ ตีโทน ฯลฯ และฟ้อนรำไปด้วย เมื่อถึงวัดแล้วก็หยุดใช้เสียง แล้วนำกัณฑ์ไปถวายพระเมื่อท่านเทศน์จบเป็นการถวายเพิ่มจากกัณฑ์ที่ถวายธรรมดาอีกที่หนึ่ง ในงานบุญเผวสคราวหนึ่ง อาจมีกัณฑ์หลอนสักกี่กัณฑ์ก็ได้ แล้วแต่ศรัทธาของประชาชนในละแวกนั้น บางทีหากมีหลายกัณฑ์ จะทยอยแห่กันแทบตลอดกันก็มี พระรูปใดหากถูกกัณฑ์หลอนถือว่าโชคดี เพราะมักได้ปัจจัยมากเป็นพิเศษ ดังคำพังเพยกล่าวว่า "ถือกัณฑ์หลอน มันซิรวยข้าวต้ม"
นอกนี้ อาจมีกัณฑ์พิเศษที่เจ้าของกัณฑ์เจาะจงนำไปถวายพระผู้เทศน์รูปใดรูปหนึ่งโดยเฉพาะ เรียกว่า "กัณฑ์จอบ" คำว่า จอบ หมายความว่า แอบดู ดังนั้น "กัณฑ์จอบ" จึงหมายถึง ก่อนนำกัณฑ์ไปถวายไปแอบดูให้รูปแน่เสียก่อนว่า เป็นพระรูปที่เจาะจงจะนำไปถวาย จึงแก่กัณฑ์เข้าไปยังวัดขณะที่พระรูปนั้นกำลังเทศน์อยู่ และเมื่อเทศน์จบก็นำกัณฑ์ไปถวายพอดี


วันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประเพณีงานบุญชาวอีสาน 3

ประเพณีทานข้าวจี่-ข้าวหลาม

วันเพ็ญเดือน 4 เหนือ เดือน ยี่ ใต้ คือ เดือนมกราคม เป็นเดือนที่ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวแล้วนำไปใส่ยุ้งฉาง ชาวล้านนาไทยนิยมทำบุญทำทานก่อนที่ตัวเองจะบริโภค เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่เทพยดา มีแม่โพสพ เป็นต้น ให้ช่วยคุ้มครองดูแลข้าวเปลือกในยุ้งฉางหลองข้าวของตน มิให้สิ่งอื่นใดมารบกวน ทำให้การกินข้างเปลือกหมดเร็ว การทำบุญทานข้าวจี่เข้าหลาม มีการทำดังนี้ การเตรียมข้าวจี่ ในสมัยโบราณชาวล้านนาไทยนิยมการทำอาหารให้สุกด้วยการจี่ การเผา การปิ้ง การย่าง เป็นส่วนมาก ไม่ใช่การทอดอย่างในปัจจุบัน ดังนั้นคนในสมัยโบราณจึงมีอายุยืนเพราะไม่มีไขมันอุดตันเส้นเลือดอย่างคน สมัยปัจจุบัน การทำบุญข้าวจี่-ข้าวหลามมีการเตรียม คือ
  1. ผู้ที่จะถวายเข้าจี่ต้องเตรียมนึ่งข้าวเหนียวให้สุก แล้วเตรียมถ่านไฟจากเตา พัดวีจนลุกโชนแล้ว ข้าวสุกปั้นเป็นกลม ๆ ใช้ไม้ไผ่เหลาให้เป็นแผ่นบางเสียบเข้าไป แล้วนำเข้าจี่ที่ถ่านไฟแดง ๆ พลิกไปพลิกมาให้มีผิวเหลืองกรอบน่ากิน บางรายต้องการให้ไหม้เสียบ้าง ชอบรับประทาน ถือว่าอร่อยกว่าการจี่แบบสุกเหลืองกรอบ เพราะมีกลิ่นหอมกว่า สิ่งนี้แล้วแต่ความพอใจของบุคคล
  2. บางรายเวลาจี่จะบี้เข้าปั้นให้มี รูปบ้านหรือแบน ๆ เพื่อสะดวกในการจี่ และนิยมทาน้ำผึ้ง น้ำอ้อย บางรายทาน้ำกะทิข้นให้ซึมเข้าไปในข้าวจี่ เมื่อจี่จนกรอบตามต้องการแล้ว นำมาใส่จานหรือภาชนะพื่อนำไปถวายพระในวันเดือน 4 เพ็ญ
  3. การจี่ข้าว เย็น คือข้าวที่นึ่งนานแล้ว จะรับประทานอย่างธรรมดาก็จืดชืดแข็งไม่อร่อย ชาวบ้านจึงนิยมเอาข้าวมาปั้นเสียบด้วยไม้จี่ไฟ แจกกันกินอร่อยกว่ารับประทานข้าวเย็นธรรมดา การจี่ข้าวแบบนี้หากจะพิจารณากันในแง่การกินแล้ว ได้ 2 ลักษณะ คือเป็นอาหารคาวใช้รับประทานกับแกง และใช้เป็นอาหารหวาน เพราะข้าวจี่มีรสหวาน มันกรอบ เพราะทาน้ำผึ้ง น้ำอ้อย อร่อยนัก ชาวบ้านในชนบทของไทยไม่พิถีพิถันเรื่องอาหาร การได้กินข้าวจี่จึงเป็นเครื่องแทนขนมหวานได้เป็นอย่างดี เพราะทำง่ายและวัสดุก็มีอยู่แล้วการทำบุญข้าวจี่นี้ นิยมทำกันกลุ่มประชาชนที่รับประทาานข้าวนึ่งเป็นอาหารหลัก คือไทยในล้านนา ไทยภาคอีสาน และประเทศลาว สำหรับไทยภาคกลางปัจจุบันนิยมรับประทานข้าวตัง คือ ข้าวติดก้นกะทะ หรือก้นหม้อหุงข้าวนำมาทอดให้กรอบ การรับประทานข้าวจี่และข้าวตัง จึงเป็นการสงวนอาหารไว้เป็นอย่างดี จึงนิยมกันสืบมาจนทุกวันนี้
  4. การทำข้าวหลาม คือ การนำข้าวสารเหนียวใส่กระบอกไม้ไผ่ ใส่น้ำแช่ไว้นานประมาณ 1 คืน หรือประมาณ 6 ชั่วโมงแล้วนำมาเผาไฟจนสุก
การทำบุญข้าวจี่-ข้าวหลาม 2 วิธี
  1. การเตรียมข้าวจี่ ข้าวหลาม และอาหารคาวหวานไปถวายพระสงฆ์ในตอนเช้า ขอท่านให้พรหรือล้านนาเรียกว่า “ปันพร” นั้น ชาวล้านนาจะนิยมถวายทุกบ้านเรือน เมื่อทำบุญข้าวใหม่เพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่บุพการีของตน
  2. การ ขึ้นวัดหรือขึ้นวิหาร หลังจากการนำเอาขันข้าวไปถวายพระภิกษุเพื่ออุทิศบุญกุศลแด่บรรพชนแล้ว ศรัทธาประชาชนประจำวัดจะนำเอาข้าวจี่ข้าวหลาม อาหารอีกส่วนหนึ่งนำขึ้นไปรวมกันบนวิหาร ซึ่งจะมีพิธีกรรมต่อไปนี้
    1. นำดอกไม้ใส่พานไปใส่ขันแก้วทั้ง 3
    2. เอาข้าวใส่บาตร พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
    3. เอาอาหารใส่ในถาดที่เตรียมไว้
    4. เอาน้ำหยาดหรือน้ำทักขิณา ใส่รวมกันในน้ำต้นหรือคนโทของวัด สำหรับกรวดน้ำร่วมกัน
    5. ใส่ดอกไม้ในพานขอศีล เรียก “ขันขอศีล”
    6. ใส่พานดอกไม้ในพานถวายไทยทาน (ขันนำทาน)
  3. เมื่อพระสงฆ์ขึ้นพร้อมกันบนวิหาร ปู่อาจารย์หรือมัคนายกจะขอศีลกล่าวคำถวายแล้วนำอาหารบิณฑบาต ข้าวจี่ข้าวหลามถวาย พระสงฆ์อนุโมทนา หลังจากพระสงฆ์ให้พระแล้ว ศรัทธาประชาชนจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพชนและขอขมาพระรัตนตรัยแล้วก็ กลับบ้าน
คุณของการถวายข้าวจี่ ข้าวหลาม
  1. ทำให้มีความสุข เบิกบานใจที่ได้ทำบุญด้วยน้ำพักน้ำแรงตน
  2. ทำให้มีโอกาสแสดงกตัญญูกตเวทีต่อบรรพชนและเทพยดา
  3. ทำให้มีการปฏิบัติตามจารีตประเพณี
  4. เป็นแบบอย่างแก่ลูกหลานเยาวชน
  5. เป็นโอกาสที่ได้สังสรรค์กับเพื่อนบ้าน
  6. ทำให้เกิดความรักความผูกพันกับเพื่อนบ้าน
  7. เป็นการบำรุงพระศาสนาอันเป็นที่เคารพสักการะของตน

ประเพณีงานบุญชาวอีสาน 2

วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประเพณีงานบุญชาวอีสาน

๑ บุญเข้ากรรมหรือบุญเดือนอ้าย

เดือนอ้ายหรือเดือนหนึ่ง หรือบางทีอาจจะเรียกว่าเดือนเจียงก็ได้มีประเพณีการทำบุญประจำเดือน คือ
"บุญเข้ากรรม" ได้มีบทพญาที่กล่าวถึงบุญประจำเดือนนี้ว่า...
ตกฤดูเดือนอ้ายปลายลมมาสิหนาวหน่วง
ตกหว่างช่วงสังโฆเจ้าเพิ่นเข้ากรรม
เฮามาพากันค้ำทำบุญตักบาตร
ปริวาสซ่อยหยู้ซูค้ำศาสนา

การเข้ากรรม คือ การอยู่ปริวาสกรรมของภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ซึ่งเรื่องของการอาบัตินี้เป็นเรื่องของพระที่ล่วงละเมิดพระวินัยหรือศีลแล้วเกิดโทษหรือความผิด ทีนี้เมื่อเกิดโทษแล้วก็ต้องมีการลงโทษอันเป็นเรื่องธรรมดาของการอยู่ร่วมกันในสังคม ต้องมีขอบเขตของสังคม หรือกฎระเบียบต่างๆ ที่สังคมนั้นๆ บัญญัติขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันรักษาคนหมู่มากหรือสังคมส่วนรวม ไม่ให้เกิดความเสียหายต่อระบบของสังคม

ในสังคมของพระก็เช่นเดียวกันมีกฎระเบียบคือศีลของพระ หรือ พระวินัยเมื่อเกิดความผิดหรือการล่วงละเมิดศีลเกิดขึ้นก็ได้มีการชำระโทษหนักบ้าง เบาบ้าง ตามสมควรแก่ความผิดที่เกิดขึ้น ที่หนักที่สุดสำหรับพระคือการขาดจากความเป็นพระ หรือการต้องอาบัติปาราชิกนั่นเอง สำหรับการอยู่ปริวาสกรรมเป็นการลงโทษพระที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ซึ่งเป็นอาบัติที่มีโทษอย่างกลาง เมื่ออยู่ปริวาสและออกจากปริวาสเรียบร้อยแล้ว ถือว่าเป็นผู้มีศีลที่บริสุทธิ์ เป็นภิกษุภาวะที่สมบูรณ์แบบ การอยู่ปริวาสนี้ไม่ใช่เรื่องของการล้างบาป แต่เป็นเรื่องของการลงโทษแก่ผู้ประพฤติผิดกฎระเบียบของสังคม ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาๆ ของสังคมทั่วๆ
ไปนอกจากนี้คำว่า เข้ากรรม คนอีสานสมัยก่อน ๆ ใช้คำนี้เรียกผู้หญิงที่คลอดลูกใหม่แล้วอยู่ไฟเพื่อให้มดลูกแห้งและเข้าอู่เร็วว่า "แม่อยู่กรรม" เป็นที่น่าสันนิฐานได้ว่าการอยู่กรรมตามความหมายที่ได้กล่าวไปข้างต้นก็เป็นเหตุผลอันหนึ่ง และนอกจากนี้ การอยู่กรรม น่าจะมีความหมายอีกลักษณะหนึ่งคือ เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ที่ได้อุตส่าห์เลี้ยงลูกให้เติบโตมาด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะแม่นั้นนอกจากเลี้ยงลูกแล้วยังได้ดูแลลูกตั้งแต่อยู่ในท้อง เพราะถ้าหากว่าลูกไม่ได้รับการเลี้ยงดูและการดูแลรักษาอย่างดีจากแม่ตั้งแต่อยู่ในท้อง อาจจะทำให้ลูกเสียชีวิต หรืออาจจะเกิดมามีร่างการไม่สมประกอบ มีความพิกลพิการ เช่นว่า ปากแหว่ง เพดานปากโหว่ แขนด้วน เป็นต้น ซึ่งสาเหตุเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะอิทธิพลสารเคมีและตัวยาบางชนิด เช่น ยาธาลิโดไมด์ ยาสเตรปโตมัยซิน ยาคอแรมฟินิคอล เป็นต้น และนอกจากนี้แม่ที่สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะคุณแม่สมัยใหม่ ก็อาจจะทำให้ลูกเป็นโรคสมองเสื่อม แท้งลูกง่าย คลอดก่อนกำหนดได้

โดยอาศัยที่ว่าการอยู่กรรมมีการทรมานตนเช่นว่า มีการนั่งสมาธิเดินจงกรม สวดมนต์ภาวนา ใช้เวลามากกว่าปกติ บางทีมีการอดข้าว อดน้ำถึง ๒-๓ วันก็มี หรือบางทีก็ถูกอาจารย์กรรมฝึกหนัก ทั้งนี้ก็เพื่อให้รู้และเข้าใจความยากลำบากของคำว่า กรรม หรืออยู่กรรม ที่แม่ได้อยู่ไฟหรือว่าอยู่กรรมนั้นมี ความยากลำบากเพียงไร
เพราะฉะนั้น คนในสมัยก่อนๆ จึงมีความตระหนักและเข้าใจในบุญคุณของพ่อแม่ ไม่มีข่าวปรากฏให้ได้ยินเห็นว่าลูกฆ่าพ่อ ตีแม่ ลูกอกตัญญ แต่กลับเทิดทูนพ่อแม่ในฐานะปูชนียบุคคลในระดับครอบครัวอย่างแท้จริง

ในกิจกรรมของพระในการนี้ พุทธศาสนิกชนผู้หวังบุญกุศลก็ร่วมกันดูแลอุปัฎฐากรักษาพระเจ้าพระสงฆ์ที่เข้าอยู่กรรม บริจาคทาน รักษาศีล ฟังธรรม เกี่ยวกับการเข้าอยู่ปริวาสกรรมของพระภิกษุ เรียกว่า"บุญเข้ากรรม" ส่วนกำหนดการทำบุญดังกล่าวได้กำหนดเอาเดือนอ้าย ส่วนจะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ได้ และเพราะมีกำหนดทำกันในระหว่างเดือนอ้ายนี้เอง จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า"บุญเดือนอ้าย"

สำหรับมูลเหตุแห่งชำระศีลให้บริสุทธิ์นี้ มีเรื่องเล่าไว้ในธรรมบทว่า ในสมัยพระกัสสัปปพระพุทธเจ้า ได้มีภิกษุรูปหนึ่งพายเรือข้ามแม่น้ำแห่งหนึ่ง ในระหว่างนั้นแม่น้ำมีกระแสที่ไหลเชี่ยว ท่านได้เอามือจับใบตะใคร้น้ำ เมื่อเรือถูกน้ำพัดไปทำให้ใบตะใคร้น้ำขาด ทานคิดว่าเป็นเรื่องที่มีโทษเล็กน้อย เวลาใกล้ตายคิดอยากแสดงอาบัติ แต่หาภิกษุที่จะรับไม่มี แม้ว่าท่านจะบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่านานถึง ๒๐,๐๐๐ ปีก็ตาม ก็ไม่อาจที่จะบรรลุธรรมชั้นสูงได้ เวลาตายไปแล้วได้ ไปเกิดเป็นพญานาค ชื่อเอรกปัต หรือแปลว่า นาคใบตะใคร้น้ำ คงจะเป็นเพราะเหตุนี้นักปราชญ์โบราณอีสานจึงได้จัดการเข้ากรรมไว้ให้เป็นประเพณีสืบมาตราบเท่าทุกวันนี้

จูนอะนะ

ชื่อ  จูน  เปงคนขี้อ้อนหน่อยๆอารมณ์ดี  อาน้า